คนไทยอ่วม!ค่าไฟปี 67 ราคาพุ่งสูงสุดเกือบ 6 บาท หลังต้นทุนเพิ่ม

10 พ.ย. 2566 | 14:05 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 14:05 น.
872

คนไทยอ่วม!ค่าไฟปี 67 ราคาพุ่งสูงสุดเกือบ 6 บาท หลังต้นทุนเพิ่ม กกพ.เตรียมเปิด 3 แนวทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระบุพร้อมรับฟังแนวทางอื่น ชี้ทั้งปึ 67 ต้นทุนขึ้นเป็น 60 สตางค์ต่อหน่วย

นายคมกฤช ตันติวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่าที่ประชุม กกพ.เห็นชอบผลการคำนวณประมาณการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ ค่าเอฟที (FT) สำหรับงวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 พร้อมให้สำนักงาน กกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็น 3 แนวทาง ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10-24 พ.ย.2566 ประกอบด้วย

  • ให้มีการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกับ กฟผ. ทั้งหมด  95,777 ล้านบาทในงวดเดียว คิดเป็นต้นทุน 2.16 บาท/หน่วย รวมกับค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนม.ค.-เม.ย.2567 ที่  64.18 สตางค์/หน่วย และรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้น 1.96 บาท/หน่วย เป็น 5.95 บาท/หน่วยจากงวดปัจจุบัน(เดือนก.ย.-ธ.ค.2566) อยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย 
  • ให้จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกับ กฟผ. 95,777 ล้านบาท ภายใน 1 ปี แบ่งเป็น 3 งวดๆ ละ 31,926 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุน 1.14 บาท/หน่วย รวมกับค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 64.18 สตางค์/หน่วย และรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้น 94 สตางค์/หน่วย เป็น 4.93 บาท/หน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่  3.99 บาท/หน่วย
  • ให้จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกับ กฟผ. 95,777 ล้านบาท ภายใน 2 ปี แบ่งเป็น 6 งวดๆ ละ 15,963 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุน 89.55 สตางค์/หน่วย รวมกับค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน 64.18 สตางค์/หน่วย และรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาท/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเพิ่มขึ้น 69 สตางค์/หน่วอย เป็น 4.68 บาท/หน่วย

คนไทยอ่วม!ค่าไฟปี 67 ราคาพุ่งสูงสุดเกือบ 6 บาท หลังต้นทุนเพิ่ม

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าค่าไฟฟ้าปี 67 จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 60 กว่าสตางค์/หน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปี 67 ทั้งปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่หากมีข้อเสนอให้ค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 3 แนวทางที่กำหนดข้างต้น กกพ. ก็ต้องกลับมาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติ เพราะจะเป็นการผลักภาระให้ กฟผ. แบกหนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อไป รวมถึงผู้นำเข้าก๊าซด้วย 

ยกเว้นว่าจะมีแนวทางการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติทั้งระบบให้ราคาเท่ากัน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากบางทางเลือกไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบกับหน่วยงานใดหรือไม่ ต้องหารือร่วมกัน
 

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าสมมติฐานดังกล่าวเป็นไปตามที่ กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คำนวณต้นุทนค่าไฟฟ้าภายใต้โครงสร้างราคาก๊าซปัจจุบัน ซึ่ง กกพ.จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ สรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามแผนการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยว่าจะมีกำลังการผลิตกลับมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วันตามเป้าหมายหรือไม่ จากปัจจุบันอยู่ที่ 200-400 ล้านลบ.ฟุต/วัน