ส่องคะแนนผลงานรัฐบาล 60 วัน ในมุมมองภาคเอกชน

08 พ.ย. 2566 | 14:44 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2566 | 15:00 น.

ส่องคะแนนผลงานรัฐบาล 60 วันในมุมมองภาคเอกชน หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ทำงานครบ 2 เดือน ทั้งด้านการตัดสินใจ ความรวดเร็ว การทำงานเชิงรุกดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

รัฐบาลภายใต้การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยกำลังจะทำงานครบ 60 วัน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ถือโอกาสในการครบวาระดังกล่าวสอบถามความพึงพอใจจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า หากต้องให้คะแนนการทำงานในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลเต็ม 10 คะแนน น่าจะต้องแยกออกมาเป็นหลายเรื่องน่าจะเหมาะสมกว่า 

โดยหากเป็นเรื่องของความรวดเร็วในการทำงาน และการตัดสินใจคงต้องให้คะแนนเต็ม 10 ซึ่งจะเห็นว่าการดำเนินนโยบายหลายเรื่องทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การลดค่าครองชีพ เช่น ลดค่าไฟงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 66 เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดราคาน้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซลสูงสุด 2.50 บาทต่อลิตร 

และลดค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง-สีม่วงเหลือ 20 บาท ซึ่งอยู่ในการดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนสายอื่นที่เป็นของเอกชนก็คงต้องมีการเจรจาต่อไป 

ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องน้ำจากสถานการณ์เอลนีโญ และฝนแล้ง ก็ถือว่ามีความรวดเร็วโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ซึ่งมีปัญหาคาราคาซังระหว่างบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยเป็นข้อพิพาท และมีการฟ้องร้อง ซึ่งทำให้ฝ่ายหนึ่งมีระบบท่อ อีกฝ่ายมีน้ำ แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยที่นายกฯเข้าไปเจรจาให้มาทำงานร่วมกันได้ ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติเรื่องน้ำ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในอีอีซี  

ส่วนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลเองก็พยายามดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง และการเพิ่มรายได้ส่วนอื่น โดยน่าจะเป็นแผนที่ 2 ที่ยังไม่ได้อยู่ในช่วง 60 วัน แต่ก็มีการวางแผน และมีการหารืออย่างที่รับทราบกันมาตลอด

ด้านนโยบายเชิงรุกดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศก็ต้องถือว่าทำได้ดี และควรที่จะได้คะแนนเต็ม 10 โดยในช่วงที่ผ่านมานายกฯเดินทางไปหลายประเทศทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้าที่มีนักลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อไปเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทย ไปสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี 

"มุมที่นายกฯระบุว่าตนเป็นเซลล์แมนของประเทศ และเดินทางไปหลายประเทศ โดยที่ภาคเอกชนได้มีโอกาสติดตามไปร่วมงานด้วย ซึ่งก็ได้เห็นถึงความตั้งใจ และการนำเสนอในเชิงของการเป็นนักธุรกิจผสมผสานกับการเป็นนายกฯได้ดี ทำให้สอดคล้องกับนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล และสถานการณ์ของโลกที่มีการแข่งขัน และเปลี่ยนแปลง"

อย่างไรก็ดี ในส่วนของต่างประเทศยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรก็คือเรื่องจากเจรจาให้มีการปล่อยตัวประกันชาวไทยในปาเลสไตน์ ซึ่งถือว่ายังคงล่าช้า โดยมองว่าต้องทำให้ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับในความพยายามของรัฐบาลอย่างเต็มที่เพียงแต่ผลลัพธ์ยังไม่แสดงออกมา โดยคะแนนส่วนดังกล่าวนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7-8 คะแนน แต่หากปล่อยตัวประกันได้แล้วทั้งหมดก็จะได้เต็ม 10

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า การบริหารจัดการกฎระเบียบ การปราบปรามอบายมุข การพนันออนไลน์ ยาเสพติด อาชญากรรมทางไซเบอร์ การปราบมาเฟีย รัฐบาลได้เริ่มทำแล้วตามที่เคยพูดไว้ แต่คงต้องพยายามทำต่อไปให้เกิดผลมากกว่านี้ หากจะให้เป็นคะแนนเวลานี้น่าจะอยู่ที่ 7-8 คะแนน 

สำหรับสิ่งที่ต้องการเห็นในระยะต่อไปก็คือ การเร่งดำเนินการตามข้อเสนอที่ ส.อ.ท.ได้ยื่นหนังสือต่อนายกฯ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ด้าน 8 เรื่องจากทั้งหมด 70 เรื่อง ประกอบด้วย

  • การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • การพัฒนาบุคลากร เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ
  • การบริหารจัดการด้านพลังงานทั้งระบบรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition)
  • การส่งเสริมการส่งออก การค้า และสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve)
  • การยกระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล
  • การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้า และการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero
  • การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs
  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Logistics และพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม