"สร.กฟผ."นัดถกหาทางออก"ผู้ว่าฯ กฟผ." คนใหม่วันนี้

06 พ.ย. 2566 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2566 | 08:17 น.

"สร.กฟผ."นัดถกหาทางออก"ผู้ว่าฯ กฟผ." คนใหม่วันนี้ หลังตำแหน่งว่างมาเป็นเวลาที่นานเกินควร ชี้ทำให้เกิดสุญญาการของการบริหารองค์กร ระบุจำเป็นต้องมีเพื่อขับเคลื่อนองค์กร โดยเฉพาะการพิจารณาค่าเอฟที

นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (6 พ.ย. 66) คณะกรรมการสร.กฟผ.จะเข้าหารือกับผู้บริหารเพื่อร่วมหาทางออกประเด็นที่ขณะนี้ กฟผ.ขาดผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่มาเป็นเวลาที่นานเกินควร ทำให้เกิดสุญญาการของการบริหารองค์กร 

ทั้งนี้ สร.กฟผ.ไม่ได้มองว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าการแต่ กฟผ.จำเป็นต้องมีผู้ว่าคนใหม่ เพื่อทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยเฉพาะการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) ที่ กฟผ.เองยังคงแบกรับภาระกว่าแสนล้านบาท

สำหรับเวลานี้นั้น จะต้องเคลื่อนไหว จะคุยกับผู้บริหาร กฟผ. ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะปัญหาของ กฟผ. ถือเป็นปัญหาของชาติและประชาชน เพราะ กฟผ. โดยหน้าที่และเจตนารมณ์หลักที่จัดตั้งก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ 

"เวลานี้กฟผ.กำลังจะตาย รัฐควรช่วยเหลือให้องค์กรของรัฐที่เป็นแขนเป็นขาให้รัฐบาล แต่กลับหยิบนำส่วนที่เป็นประโยชน์ ผลกำไร และรายได้นำส่งเข้ารัฐไปเป็นกำไรให้กับภาคเอกชน จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน กฟผ. มีกำลังการผลิตเหลือประมาณ 28% และในอนาคตบอกว่าจะเหลือแค่ 20% และจะเรียกว่าเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้อย่างไร"

อย่างไรก็ดี สร.กฟผ.ได้ติดตามตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริการ กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวัน 8 มี.ค. 2566 เพื่อพิจารณาผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ที่ครบวาระในวันที่ 21 ส.ค. 2566 โดยบอร์ด กฟผ. ได้เลือก นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตามที่คณะกรรมการสรรหาที่มี นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานขณะนั้น เป็นประธานเสนอ
 

หลังจากนั้นสัญญาณว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบ สร.กฟผ. ได้ติดตามไปยังนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมัยนั้น ให้นำเสนอชื่อผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ก่อนที่จะมีการยุบสภาฯ เพราะช่วงนั้น กฟผ.มีปัญหารับภาระ เอฟที กว่า 1 แสนล้านบาท 

รวมถึงปัญหาสภาพคล่อง ฯลฯ ซึ่งต้องอาศัยผู้มีอำนาจสูงสุดในการลงนาม แต่ไม่มีการนำเสนอ จนเป็นรัฐบาลรักษาการ ต่อมาได้มีการส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงเดือน ก.ค. 2566 ก็แปลกใจว่า กกต. มีการอนุมัติเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก ยกเว้นผู้ว่าการ กฟผ. เป็นอะไรที่ผิดปกติมาก และเมื่อแต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่สำเร็จ ก็หวังว่าจะมีการนำเสนอ ครม. นัดแรกแต่สุดท้ายก็ไม่มีและล่าสุดมีการระบุต้องส่งให้บอร์ดกฟผ.ชุดใหม่พิจารณา แต่ขณะนี้บอร์ดก็ยังคงขาดประธาน