energy

"ค่าไฟ"ปี 67 ทะลุ 4 บาท หลังต้นทุนเพิ่ม 5-10 สตางค์

    "ค่าไฟ"ปี 67 ทะลุ 4 บาท หลังต้นทุนเพิ่ม 5-10 สตางค์ และหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเข้ามาดูแลต้นทุน จับตาปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของแหล่งเอราวัณที่กำลังการผลิตจะกลับมาตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟฟุตต่อวันหรือไม่

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าปี 2567 ว่า หากรัฐบาลไม่มีนโยบายมาดูแลต่อต้นทุนที่แท้จริงก็จะอยู่ที่กว่า 4 บาทต่อหน่วย 

ทั้งนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น จากปัญหาวิกฤติโควิด และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ผ่านมา ราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมาก

อย่างไรก็ดี แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากอ่าวไทยก็ตามแต่ราคาก็มีการปรับตามปัจจัยต่าง ๆ อาทิ อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลถึงทั้งค่าน้ำมันที่แพงขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังกล่าวซึ่งอาจจะไม่มากแต่ก็มีผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นระดับ 5-10 สตางค์ 

ส่วนที่ประเทศไทยมีปัญหา คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของแหล่งเอราวัณที่กำลังการผลิตจะกลับมาตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟฟุตต่อวัน หรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องอิงกำลังการผลิตที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องนำเข้าก๊าซฯ เข้ามา ซึ่งหากราคาไม่แพงก็จะกระเทือนไม่มากนัก และหากสงครามอิสราเอลกับฮามาส บานปลาย ก็จะยิ่งกระทบกับราคาแน่นอน โดยหากก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่หายไปจะต้องดูว่าช่วงต้นปี 2567 จะต้องเติมที่เท่าไหร่ เพราะช่วงต้นปีอาจเพิ่มขึ้นมาบ้างก็จะช่วยให้ลดปริมาณการนำเข้าได้ในระดับหนึ่ง

"ค่าไฟ"ปี 67 ทะลุ 4 บาท หลังต้นทุนเพิ่ม 5-10 สตางค์

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อทำตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT) งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ซึ่งจากคาดการณ์แนวโน้มต้นทุนอาจจะแพงกว่างวดปัจจุบัน (ก.ย.-ธ.ค. 2566) เล็กน้อย ถือเป็นการมองไปข้างหน้า 

โดยตอนนี้ราคานำเข้า LNG อยู่ที่ประมาณ 17-18 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งอยู่ระหว่างทะยอยซื้อเข้ามาเสริม เพราะหากซื้อมาในปริมาณที่มากปัญหาคือไม่มีที่เก็บ จึงบอกได้เพียงแค่ว่าแนวโน้วต้นทุนแพงกว่างวดปัจจุบันแน่นอน จากปัจจัยราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากนี้ ปัจจัยบวกที่จะมาหนุน คือ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว ที่อาจจะไม่เยอะ รวมถึงเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้มีปริมาณน้ำมากขึ้นก็อาจจะมาช่วยเสริมให้ต้นทุนถูกลงในส่วนหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นสเกลที่น้อยมาก ถ้าเทียบกับก๊าซฯ ในอ่าวไทย ดังนั้น ปัจจัยภายนอกจึงเยอะมาก โดยเฉพาะสงครามทางการเมืองต่างประเทศที่มีการปิดท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งราคา LNG จะขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย

“ยกตัวอย่างช่วงโควิดไม่มีการผลิตก๊าซฯ ราคาจึงต่ำ แต่หลังโควิดยอดใช้มีมากราคาจึงกระโดด โดยส่วนตัวมองว่าสงครามทั้งอิสราเอลและสงครามของรัสเซียนั้น ทั้ง 2 เหตุการร์แม้จะกระทบ แต่มองว่าสงครามรัสเซียกับยูเครน ทั่วโลกน่าจะปรับตัวได้แล้ว ดังนั้น จะต้องดูว่าสงครามอิสราเอลจะทำให้การขนส่งมีปัญหามากน้อยแค่ไหน และอีกปัจจัยสำคัญคือ ประเทศเศรษฐกิจอย่างจีนจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน และอินเดียจะมีการใช้มากหรือไม่”

สำหรับตัวเลขตามหลักเกณณ์ที่จะคำนวณค่าเอฟทีงวดม.ค.-เม.ย. 2567 ปกติจะต้องส่งให้การไฟฟ้าเพื่อประกาศก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ดังนั้น จะต้องนำเข้าคณะกรรมการกกพ. ในเดือน พ.ย. 2566 ยกเว้นแต่ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีนโยบายเพิ่มเติม เพราะราคาสุดท้ายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยโดยเฉพาะนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาล เพราะวิธีคำนวนต้นทุนจะใช้มาตรฐานเดียวกัน

“ประชาชนต้องดูข้อเท็จจริงว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมาจากอะไร เพราะเราต้องนำเข้าก๊าซฯ จากต่างประเทศเป็นหลัก"

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ตัวเลขต้นทุนแล้ว จะต้องดูการบริหารจัดการอื่นโดยเฉพาะหนี้ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับไว้อีกกว่า 1.3 แสนล้านบาท ว่าจะไหวหรือไม่และจะช่วยได้อีกเท่าไหร่ และเมื่อกฟผ. ช่วยเหลือต่อไปก็จะต้องดูว่าจะช่วยกฟผ. กลับไปอย่างไร 

ซึ่งรวมถึงการที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืดหนี้ราคาค่าก๊าซฯ ด้วย ดังนั้น จึงต้องอยู่ที่นโยบายภาครัฐ เพราะในอดีตไม่เคยมีนโยบายมาดู เพราะต้นทุนเมื่อบวกลบแล้วไม่เกินเคยเกิน 3-4 สตางค์ต่อหน่วย แต่ปัจจุบันมีปัญหาปริมาณก๊าซฯ ที่หายไป และภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ราคาวิ่งไปสูงกว่าที่ กกพ.ทำ