zero-carbon

"กนอ."ผนึกพันธมิตรปั้นระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะนิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค

    "กนอ."ผนึกพันธมิตรปั้นระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะนิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค เดินหน้าจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและบริษัทในเครือ กนอ. ให้บริการด้านพลังงาน ตอบโจทย์ความเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เอิร์ธ อิเล็คทริค ซัพพลาย จำกัด และบริษัท ทริปเปิ้ล พี เทคโนโลยี จำกัด 

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและร่วมลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือประกอบด้วย 

  • ระบบพลังงานไฟฟ้ามั่นคงและพลังงานสีเขียว (Green Energy and Energy Reliable System) 
  • โครงสร้างระบบข้อมูลและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Data and Communication) 
  • โครงข่ายระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy and Microgrid Network) 
  • บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม (Retail Mixed Use Community) 
  • ระบบการบริหารจัดการพลังงานภาคอุตสาหกรรม (Smart Energy Factory) 
  • ระบบบริหารแบบรวมศูนย์ (Integrated Operation Centre) 

"กนอ."ผนึกพันธมิตรปั้นระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะนิคมฯ สมาร์ท ปาร์ค

รวมถึงการศึกษาแนวทางจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนหรือบริษัทในเครือของ กนอ. (Utilities Management Company) โดยภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวนี้เรียกว่า “UMC” เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการและให้บริการพลังงาน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และอำนวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในรูปแบบของการบริการที่ครบวงจร (One Stop Service)

"การดำเนินการดังลก่าวนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และร่วมลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เพื่อตอบโจทย์ความเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และความต้องการของนักลงทุนทั้งด้านการใช้เทคโนโลยี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve)"

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับภารกิจหลักของ กนอ. ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม กำกับดูแล และให้บริการระบบสาธารณูปโภคสำหรับการประกอบอุตสาหกรรม โดยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะ

เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ New S-Curve เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สอดรับกับแนวคิด BCG Economy ของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม”