energy

เปิดปมแต่งตั้ง"ผู้ว่าฯ กฟผ." ล่าช้า หลังกกต.ส่งหนังสือด่วนถึง สลค.

    เปิดปมแต่งตั้ง"ผู้ว่าฯ กฟผ." ล่าช้า หลัง กกต.ส่งหนังสือด่วนถึง สลค. พร้อมส่งต่อ รมว.พลังงาน ให้เร่งแต่งตั้ง เผยการประชุม ครม. ผ่านไปแล้ว 5 ครั้งยังไม่มีการชงเรื่องผู้ว่าฯ กฟผ. ให้ที่ประชุมพิจารณา

ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ยังคงเป็นตำแหน่งที่คาราคาซังมากมากกว่า 7 เดือน ตั้งแต่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมาถึงนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วถึง 5 ครั้ง แต่เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ก็ยังคงไม่ถูกนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติ 

ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) 

หลังจากนั้น สลค.ได้ทำหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กันยายน 2566 ส่งถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องการแต่งตั้ง"ผู้ว่าฯ กฟผ." คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ พร้อมทั้งแนบสำเนาหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ลงวันที่ 6 กันยายน

โดย สลค.ได้แนบสำเนาหนังสือกกต. ด่วนที่สุดที่ ลต 0019/16111 ลงวันที่ 6 ก.ย. 2566 มีข้อความระบุว่า

ตามที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 เห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (2) แล้ว 
 

ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 48/2566 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุม กกต. มี "มติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบกรณีการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ." เนื่องจากนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนก่อน จะหมดวาระในวันที่ 21 ส.ค. 2566 ยังไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ควรรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา

ต่อมา กระทรวงพลังงาน ได้เสนอเรื่องการแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน เสนอข้อมูลข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. ไปให้ กกต. พิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง และเห็นชอบให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติว่า 

กรณีที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องได้เสนอเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ หรือพนักงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน นำเสนอต่อ ครม. ตามนัยของมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบหรืออนุมัติในเรื่องนั้น และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 (2) แล้ว

“หากเรื่องใด กกต. พิจารณาแล้วไม่เห็นชอบด้วยกับมติ ครม. แต่หน่วยงานเจ้าของเรื่องยังคงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบดำเนินการ หากล่าช้าออกไปจะเกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน และอาจส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องหรือประชาชนโดยรวมได้ รวมทั้งไม่สามารถจะชะลอเรื่องไว้จนกว่า ครม. ชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศได้ ก็ให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องทำหนังสือแจ้งยืนยันข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเรื่องนั้นอย่างเร่งด่วนไปยัง กกต. เพื่อขอให้ กกต. พิจารณาทบทวนผลการพิจารณาของ กกต. ในเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งต่อไป”

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จึงได้จัดส่งข้อมูล ข้อเท็จจริง และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพิ่มเติม กรณีการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. (นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์) ให้ กกต. พิจารณาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ต่อมา กกต. ทำหนังสือแจ้ง สลค. ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการแผ่นดินสืบต่อไปแล้ว จึงขอส่งเรื่องดังกล่าวคืนให้ครม. ชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อทราบ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทาง สลค. จึงทำหนังสือสลค. ที่ นร 0508/19808 แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรับทราบ ทั้งนี้ หากกระทรวงพลังงาน ประสงค์จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อครม. ขอได้โปรดดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ตลอดจนมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานจะนำรายชื่อผู้บริหารระดับสูงเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ยกเว้นตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ต้องเสนอคณะกรรมการ กฟผ. ชุดใหม่ (บอร์ด กฟผ.) พิจารณาตรวจสอบความถูกต้องอีกที

โดยการตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างเช่น อายุการทำงานของนายเทพรัตน์ ซึ่งตามระเบียบของ กฟผ. กำหนดอายุการทำงานของผู้ว่า กฟผ. ต้องมีอายุงานก่อนเกษียณไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งที่ประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ในข้อ 1 และข้อ 1.2 การกำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัครว่าต้องมีอายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัคร 

แต่วันที่ยื่นใบสมัครนายเทพรัตน์ อายุไม่ถึง 58 ปี พร้อมยืนยันการแต่งตั้งนายเทพรัตน์เป็นผู้ว่าการ กฟผ. อีกครั้งก่อนเสนอที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบ คาดว่ากระบวนการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่จะใช้เวลามากกว่า 1 เดือน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่ามหากาพย์การแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ คนที่ 16 ของประเทศไทยจะมีบทสรุปออกมาอย่างไร "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ผู้ที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างถูกต้องจะได้รับตำแหน่ง หรือจะมีบุคคลอื่นเข้ามารับตำแหน่งแบบบิ๊กเซอร์ไพรส์