"อดีตผู้บริหาร-สหภาพ กฟผ."เร่งรัฐบาลตั้ง เทพรัตน์ นั่งผู้ว่ากฟผ. คนใหม่

02 ต.ค. 2566 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 11:58 น.

"อดีตผู้บริหาร-สหภาพ กฟผ."เร่งรัฐบาลตั้ง เทพรัตน์ นั่งผู้ว่ากฟผ. คนใหม่ ชี้คณะกรรมการ กฟผ. ได้เห็นชอบให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่ากฟผ. เป็นคนต่อไป ระบุเป็นการดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรม

ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่ยังคาราคาซังมาตั้งแต่รัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ
 
จนปัจจุบันนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.คนล่าสุดได้หมดวาระการดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2566

โดยก่อนหน้านี้  กฟผ. ได้ดำเนินการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง และเสนอชื่อนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นอันดับหนึ่ง เฉือนเอาชนะคู่แข่งที่ลงสมัครอีก 3 รายคือ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการด้านเชื้อเพลิง นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการด้านพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และ นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการด้านธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และได้รับการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 2 พฤาภาคม 2566 ซึ่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ 

อย่างไรก็ดี ในการประชุม ครม. วันที่ 6 มิถุนายน 66 มีวาระเสนอเข้ามาโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้ที่ประชุมครม.รับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) คนใหม่ของนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ แม้ว่าจะผ่านการอนุมัติจากครม.ไปแล้ว

ทั้งนี้ในรายละเอียดของเรื่อง ระบุว่า ตามผลการพิจารณาของ กกต. ไม่อนุมัติตามที่ ครม.เสนอเนื่องจากพิจารณาแล้วว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะปัจจุบันนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.คนปัจจุบัน จะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ดังนั้น กกต. จึงให้รอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจันประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้วก็ตาม แต่เรื่องการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. คนใหม่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้จะมีการประชุม ครม. ไปแล้วถึง 3 ครั้ง

ล่าสุดกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน ได้ทำหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีข้อความเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ คนที่ 16 และการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงระบุว่า  

ในนามกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน ได้ทราบข่าวปัญหาในการแต่งตั้งผู้ว่าการฯ กฟผ. และปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในขณะนี้ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขมาโดย
ตลอดตามที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น 

โดยในส่วนของการแต่งตั้งผู้ว่าการฯ กฟผ. นั้น ได้ทราบว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ ซึ่งขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงว่าการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งคณะกรรมการ กฟผ. ได้เห็นชอบให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. เป็นคนต่อไปแล้วนั้นเป็นการดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรม โดยคณะกรรมการสรรหา กฟผ. และคณะกรรมการ กฟผ. ก็ดีต่างก็ยึดถือแนวทางปฏิบัติเป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย ในทุกประการ 

นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนและการยอมรับทั้งจากพนักงาน กฟผ. และสหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเช่นกัน และหลังจากนั้น คณะกรรมการ กฟผ. ได้สรุปผลการคัดเลือกและนำเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น คือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์เพื่อนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป และเรื่องดังกล่าวได้อยู่ใน ครม. เรียบร้อยแล้วเพื่อรอนำเข้า ครม. 

 

 

แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์ยุบสภาไปก่อนจึงทำให้ ครม. ขณะนั้นไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงได้พิจารณานำเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กลต) จำนวน 2 ครั้ง ตามคำแนะนำของ ครม. และรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ กลต. ก็ยังคงยืนยันให้ไปนำเสนอ ครม. ของรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นเรื่องจึงยังคงอยู่ที่รัฐมนตรีพลังงาน 

ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่รัฐมนตรีพลังงานนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สามารถที่จะพิจารณาดำเนินการนำเสนอต่อครม. ใหม่ได้ เพราะเป็นการสรรหามาโดยชอบธรรมแล้ว และหากมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ ก็จะไม่เป็นธรรมและส่งผลเสียหายต่อผู้ถูกคัดเลือกและเป็นข้อสงสัยต่อสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล 

ประกอบกับการจะเปลี่ยนแปลงให้มีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่นั้น จะส่งผลต่อคำครหานินทาจากสังคมได้ว่ามีใบสั่งจากทุนใหญ่ด้านพลังงานมากดดันรัฐบาลตามข่าวที่ทราบกันอยู่แล้ว 

พวกเราจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านรัฐมนตรี ฯ พิจารณานำเสนอผลกการคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 คือนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เข้า ครม. เพื่อเห็นชอบอนุมัติแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กฟผ. ต่อไป 

อย่างไรก็ดี หากมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ และไม่ใช่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ซึ่งแน่นอนว่าสังคมต่างทราบอย่างกว้างขวางจากสื่อต่าง ๆ อยู่แล้วว่าใครจะได้รับการคัดเลือก ย่อมจะไม่สง่างามและเป็นผลดีต่อการบริหารงานใน กฟผ. จะทำให้เกิดความไม่พอใจและมีความขัดแย้งอันยาวนานใน กฟผ. 

และอาจจะไม่เป็นผลดีต่อการสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารงานตามนโยบายต่างๆให้กับทางกระทรวงพลังงานหรือรัฐมนตรีอย่างต็มที่ก็เป็นได้ สำหรับในเรื่องค่าไฟฟ้าแพงนั้นในความเป็นจริงต้นกำเนิดเกิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไปโดยขาดการสร้างความสมสมดุลย์ด้าน Demand และ Supply จะเห็นจากปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง

อีกทั้ง ยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมและอื่น ๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไปโดยอ้างปัญหาโลกร้อนและไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่าง ๆ โดยไม่ดูข้อจำกักต่าง ๆ ภายในประเทศ จนเป็นเหตุให้เกิดข้อครหารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนพลังงานจากสื่อต่าง ๆ ที่ออกมา 

และจากนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีประกาศลดค่าไฟตามข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องที่ดีแต่เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ปัญหาจะไม่สามารถถูกแก้ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน ดังนั้นการแก้ปัญหาค่าไฟแพงนั้นควรแก้ไขที่ต้นเหตุคือการแก้ไขสัญญาที่รัฐเสียเปรีบกับเอกชนใหม่ เช่นค่าความพร้อมจ่าย เป็นต้น แก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุลย์ Demand และ Supply อย่างสมเหตุสมผล 

เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิง GAS (LNG) เพื่อให้เกิดการแข่งขันจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อ Gas จาก ปตท. ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการ
สนับสนุนจากรัฐบาล ควรให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอและจัดทำแผน PDP เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง

"อดีตผู้บริหาร-สหภาพ กฟผ."เร้ารัฐบาลตั้ง เทพรัตน์ นั่งผู้ว่ากฟผ. คนใหม่

"อดีตผู้บริหาร-สหภาพ กฟผ."เร้ารัฐบาลตั้ง เทพรัตน์ นั่งผู้ว่ากฟผ. คนใหม่