zero-carbon

“ไทยเบฟ” เท 7 พันล้าน หนุนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

    ไทยเบฟ เดินหน้าสร้างความร่วมมือขยายธุรกิจยั่งยืน วางงบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า เดินสู่เป้าหมาย ESG ครบทุกมิติ พร้อมพุ่งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2583

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟ เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือThai Bev กล่าวว่า นับจากปี 2565 กลุ่มบริษัทไทยเบฟได้ประกาศกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2583 พร้อมทั้งกำหนดแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (E-Environment ) สังคม (S-Social) และธรรมาภิบาล (G-Governance)

  • เทงบต่อเนื่อง 7 พันล้าน

ก่อนหน้านี้ไทยเบฟตั้งงบลงทุนในปี 2566 ไว้ที่ 5,000-8,000 ล้านบาท (ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) เพื่อเดินหน้าธุรกิจยั่งยืน และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ซึ่งล่าสุดได้ประกาศงบลงทุนเพิ่มอีกราว 7,000 ล้านบาท ในช่วงระหว่าง 12-18 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟ เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบัน ไทยเบฟได้ขยายขอบเขตการรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ให้ครอบคลุมกรอบการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ Carbon Disclosure Project (CDP) เป็นครั้งแรกในปี 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบการเปิดเผยข้อมูลและจัดอันดับด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก โดยได้รับคะแนนประเมินระดับ A-

ในปี 2565 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ในหลายส่วนของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงงานของไทยเบฟในประเทศไทย รวม 23 แห่ง การติดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 7 แห่ง สำหรับผลิตก๊าซชีวภาพจากนํ้ากากส่า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นแอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในโรงงานแทนการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ ยังเพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเป็น 42.8% ลดอัตราส่วนการใช้นํ้าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 11.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับพื้นที่ที่มีการดึงนํ้าจากแหล่งนํ้ามาใช้มาก (water- stressed area) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ 8.7% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562

“ไทยเบฟ” เท 7 พันล้าน หนุนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

ส่วนเรื่องของขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวน 67.6% ถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ด้านบรรจุภัณฑ์สินค้า ได้มีการนำบรรจุภัณฑ์จำนวน 84% กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล (Reuse and Recycle) และในภาคของสินค้า ได้เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่ได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็น 70% ในปัจจุบัน

การลดมลพิษหรือลดคาร์บอน ไทยเบฟใช้ ICP (Internal Carbon Price) เป็นราคาฐานเพื่อตัดสินใจลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการตัตสินใจลงทุนในโครงการที่ปล่อยมลพิษสูง โดยกำหนด ICP ที่ 20 ดอลลาร์สรัฐต่อตันคาร์บอนออกไซด์เทียบเท่า ในการลงทุนโครงการที่มูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาทในช่วงปี 2563-2567 และจะใช้ 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนออกไซด์เทียบเท่า ในการลงทุนโครงการที่มูลค่ามากกว่า 5 ล้านบาท ในช่วงปี 2568-2573

ไทยเบฟยังได้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์คาร์บอนตํ่า กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (CFR) ที่กำหนดให้บริษัทแสดงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 2% เมื่อเทียบกับปีฐาน ซึ่งถือเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการหลีกเลี่ยงการปล่อยคาร์บอน ด้วยการอุดหนุนผลิตภัณฑ์คาร์บอนตํ่า โดยปี 2565 ไทยเทฟมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับใบรับรองการลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ ( CFR) จำนวน 42 รายการ และได้รับรองคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ (CFP) 76 ผลิตภัณฑ์

  • ความยั่งยืนแบบ collaboration

นายฐาปน กล่าวว่า การทำงานด้านความยั่งยืน ต้องทำงานแบบ Collaboration คือ มีการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่เพียงในองค์กรแต่รวมถึงการร่วมมือกันในภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ภาคประชาสัมคม รวมถึงรัฐบาล และระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

การดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ไทยเบฟได้กำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพ (KPIs) ที่เกี่ยวข้องกับ ESG การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแรงจูงใจทางด้านการเงิน เข้ากับเป้าหมายของพนักงาน อาทิ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 (Scope 1)และ 2 (Scope 2) ลง 50% ภายในปี พ.ศ.2573 (เทียบกับปี 2562) การใช้พลังงานหมุนเวียน 50% ภายในปี 2573 และผู้จัดการหน่วยธุรกิจมีเป้าหมายในการลดการใช้นํ้าต่อผลิตภัณฑ์ลงให้มากกว่า 5% ภายในปี 2568 (เทียบกับปีฐาน 2562)

ส่วนด้านสังคม ตั้งเป้าเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานให้ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2573 และ 80% ของรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ต้องมาจากเครื่องดื่มและอาหารเพื่อสุขภาพภายในปี 2573 และยังมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการนำมาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของบริษัท เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ในส่วนของ Scope 3 ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุด ไทยเบฟตั้งเป้า 100% ของคู่ค้ากลุ่มกลยุทธ์ต้องมีการจัดทำและบังคับใช้จรรยาบรรณสำหรับคู่ค้าของตนเอง รวมทั้งผสานความร่วมมือสู่ผลกระทบเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ซึ่งการทำงานของไทยเบฟไม่ได้จบเพียงแค่นี้ แต่จะมีการร่วมมือกับภาคส่วนและองค์กรอื่น ๆ เพิ่มเติม เพราะงานด้านความยั่งยืนไม่มีเส้นชัย แต่เป็นการเดินทางเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ดีขึ้นและยั่งยืนมากขึ้นต่อเนื่อง