“อายิโนะโมะโต๊ะ” กางแผน Net Zero ลด CO2 ลง 50% ปี 73

12 ต.ค. 2566 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2566 | 13:31 น.

“อายิโนะโมะโต๊ะ” ปรับแผนครั้งใหญ่ ประกาศวิชั่น-มิชชั่น สู่ Net Zero 2050 ตั้งเป้าปี 2030 ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนสู่การใช้พลาสติกรีไซเคิล ลดใช้พลาสติกบริสุทธิ์ 100% สู่ผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมอย่างยั่งยืน

นายอิชิโระ ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านจากการก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 10 บริษัทชั้นนำของโลก สู่หมุดหมายใหม่ที่ต้องการทุ่มเท เพื่อการเป็นผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกรดอะมิโน (amino acid) ที่นำมาสร้างประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกับ “อายิโนะโมะโต๊ะ” ทั่วโลก

“เรื่องแรกที่เราต้องการคือ การพัฒนาธุรกิจเพื่อสร้างสังคมและสุขภาพที่ดีให้กับคน 1,000 ล้านคนทั่วโลก และสองคือ ต้องการส่งเสริมความยั่งยืนของโลก ด้วยการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลง 50% ภายในปี 2030(พ.ศ.2573) ซึ่งนี่คือพันธกิจหลักของอายิโนะโมะโต๊ะทั่วโลก”

อิชิโระ  ซะกะกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด

อายิโนะโมะโต๊ะ ได้ประกาศ วิชั่น-มิชชั่น จากเดิมที่มีภาพลักษณ์เป็นแค่บริษัทฯ ทางด้านอาหาร เครื่องปรุงรส และเครื่องดื่ม ไปสู่การเป็นบริษัทที่สร้างความอยู่ดีมีสุข ซึ่งแบ่งออกมาเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ผู้บริโภค, สังคม และพนักงานของบริษัท โดยใช้จุดแข็งที่สำคัญ คือ การใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาทำให้กรดอะมิโนเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีในการนำกรดอะมิโนที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้บริโภค

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมได้กำหนด 5 เป้าหมาย เพื่อลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ.2030 และเดินหน้าสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero) ในปี ค.ศ.2050 เริ่มจาก การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50% ในปี 2030 ใช้พลาสติกเป็นศูนย์ ในปี 2030 สำหรับแพคเกจจิ้งทั้งหมดต้องรีไซเคิลได้ ลดปริมาณอาหารเหลือและขยะอาหาร ลง 20% ในปี 2025 โดยส่วนหนึ่งนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอนุรักษ์ทรัพยากรนํ้า 80% ในปี 2030 และการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable Procurement) 100% ในปี 2030 เช่นกัน

“อายิโนะโมะโต๊ะ” กางแผน Net Zero ลด CO2 ลง 50% ปี 73

ทั้งนี้ อายิโนะโมะโต๊ะ พยายามลดก๊าซเรือนกระจก โดยโฟกัสที่สโคป 1 และ2 ซึ่งเป็นการลดใช้พลังงานในโรงงาน โดยการใช้พลังงานจากเครื่องกำเนิดไอนํ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass Boiler technology) ทำให้สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 1.3 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการใช้ biomass cogeneration power plant โรงไฟฟ้าที่ใช้เศษวัสดุชีวมวลมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดคาร์บอนได้ปีละ 5 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่ารวมถึง การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป 100%

“มีการนำแกลบที่เหลือจากภาคการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อต้มไอนํ้าพลังชีวมวลเพื่อผลิตไอนํ้าสำหรับกระบวนการผลิต (Biomass Cogeneration) รวมไปถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทดแทนเชื้อเพลิงจากนํ้ามันเตา”

ส่วนของบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์อายิโนะโมะโตะต้องรีไซเคิลได้ทั้งหมด ซึ่งจะลดการใช้พลาสติกบริสุทธ์ ด้วยการเริ่มยกเลิกการผลิตแพ็คเกจจิ้งพลาสติกขนาด 1 กิโลกรัม และลดการผลิตซองผลิตภัณฑ์ขนาด 35 กรัม และ 72 กรัมลง ทำให้สามารถลดการใช้พลาสติกลงได้ 102 ตันต่อปี

รวมทั้งเลือกใช้กระดาษ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FSC (Forest Stewardship Council) ขณะเดียวกันก็พัฒนาแพ็กเกจจิ้ง อายิโนะโมะโต๊ะ ที่เป็นถุงกระดาษขนาด 50 กรัม ขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ อายิโนะโมะโต๊ะ ยังสนับสนุนเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตของฟาร์มมันสำปะหลัง มอบต้นมันปะหลังคุณภาพสูงให้กับ 161 ครอบครัว ใช้มันสำปะหลังของเกษตรกรไทย มากกว่า 600,000 ตันต่อปี และโรงงาน KPP บรรลุระดับอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 (ระดับสูงสุด)

อายิโนะโมะโต๊ะ ยังมีการใช้ทรัพยากรนํ้าอย่างคุ้มค่า ผ่าน 3Rs (ลดใช้ซํ้า และรีไซเคิล) ทำให้ลดการใช้นํ้าต่อหน่วยการผลิตได้มากถึง 91% เทียบกับค่าพื้นฐาน

นายอิชิโระ ซะกะกุระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวแคมเปญ Too Good To Waste เพื่อส่งต่อแนวคิดในการจัดการกับการสูญเสียอาหารและขยะอาหารให้กับคนไทยในภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นการต่อยอดแนวทางการจัดการ Food Loss and Food Waste ที่ใช้ในโรงงาน เพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต ด้วยการนำของเหลือจากกระบวนการผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วม (Co-Product) ส่งคืนสู่ภาคการเกษตร เช่น การนำนํ้าหมักที่เหลือจากกระบวนการผลิตผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะมาผลิตเป็นปุ๋ยนํ้าให้กับพืช และใช้ผสมในอาหารสัตว์ (Fertilizer Animal feed) การนำขี้เถ้าแกลบที่เป็นของเหลือจากโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมจากชีวมวล (Biomass Cogeneration) ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงดิน

ทั้งหมดนี้คือแผนงาน การเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ของ อายิโนะโมะโต๊ะ โดยปี พ.ศ.2567 อายิโนะโมะโต๊ะจะมีการลงทุนใหญ่ ด้านความยั่งยืน พร้อมการออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพของผู้บริโภคจำนวนมหาศาลแน่นอน แต่ทั้งนี้ บริษัทฯไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขด้านงบการลงทุนได้ เพราะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ญี่ปุ่น