อาณาจักรน้ำเมา “ไทยเบฟ” ไล่ซื้อกิจการ-อัดงบลงทุน เสริมแกร่งตลาดเอเชีย

13 ต.ค. 2566 | 13:23 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 13:30 น.
689

ผ่าอาณาจักรน้ำเมา “ไทยเบฟ” ตอกย้ำเบอร์ 1 อาเซียน อันดับ 9 ในเอเชีย เดินหน้าซื้อกิจการสุรา ขยายการลงทุนเบียร์ ทุ่ม 4,000 ล้านปักหมุดกัมพูชา ฐานผลิตใหม่หวังป้อนตลาด CLMV เชื่อมต่อสู่เวียดนาม

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ด้านธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปัจจุบันได้มีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และมีการเติบโตทางธุรกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง จากรายงานผลประกอบการประจำปี 2565 (ต.ค. 64 - ก.ย. 65) ไทยเบฟทำรายได้กว่า 272,359 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายได้ปี 2564 (ต.ค. 63 - ก.ย. 64) ราว 241,000 ล้านบาท อยู่กว่า 30,000 ล้านบาท

เมื่อตัดแบ่งสัดส่วนของรายได้ออกมา พบว่าไทยเบฟมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุรา 43% ธุรกิจเบียร์ 45% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6% และธุรกิจอาหาร 6% มาในปี 2566 พบว่า 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 65 - มิ.ย. 66) ไทยเบฟทำรายได้อยู่ที่ 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุรา 93,673 ล้านบาท ธุรกิจเบียร์ 93,262 ล้านบาท ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 14,822 ล้านบาท และธุรกิจอาหาร 14,296 ล้านบาท

อาณาจักรน้ำเมา “ไทยเบฟ” ไล่ซื้อกิจการ-อัดงบลงทุน เสริมแกร่งตลาดเอเชีย

ในปี 2565 ธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟมีปริมาณการขายอยู่ที่ 2,493 ล้านลิตร มากกว่าในปี 2564 อยู่ 326 ล้านลิตร ธุรกิจสุรามีปริมาณการขายอยู่ที่ 698 ล้านลิตร ขึ้นมาจากปี 2564 อยู่ 3 ล้านลิตร และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีปริมาณการขายอยู่ที่ 1,617 ล้านลิตร ขึ้นมาจากปี 2564 อยู่ 159 ล้านลิตร จากสัดส่วนจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ทำรายได้หลักของไทยเบฟ คือธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างธุรกิจสุราและเบียร์

อุตสาหกรรมเบียร์เป็นธุรกิจหลักที่เสริมให้อาณาจักรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) แผ่ขยายในวงกว้างและมั่นคง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบันอย่าง เบียร์ช้าง ที่ผลิตจากโรงงานเบียร์ที่มีมาตรฐานสูงระดับโลก 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานเบียร์ จังหวัดกำแพงเพชร ของบริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด (มหาชน)

โรงงานเบียร์ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของบริษัท เบียร์ทิพย์ บริวเวอรี่ (1991) จำกัด และโรงงานเบียร์ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของบริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผ่านการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตและรสชาติ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงสม่ำเสมอ รวมถึงมีนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพลังงานในทุกขั้นตอนการผลิต

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

9 เดือนเติบโต 3.8% เหตุท่องเที่ยวฟื้น

อย่างไรก็ดี จากตัวเลข 9 เดือนแรกของปีที่พบว่ามีการเติบโต 3.8% นั้นเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ กําไรจากการดําเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีเงินได้ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี(EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เกิดจากปัจจัยโดยรวม

ไม่ว่าจะเป็นในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีกระแสเงินสดอิสระที่ดี รวมถึงเชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสําคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของไทยเบฟได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ ย้ำว่า ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมาย Passion 2025 เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ รายได้ และกำไร เพื่อขยายธุรกิจให้เชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน จากที่ผ่านมาที่ให้น้ำหนักในการขยายธุรกิจในประเทศไทยเป็นหลัก อีกทั้งยังมองเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าจากกลุ่มอาเซียนบวก 9 ทั้งนี้ ยังมองไปถึงการเชื่อมโยงทางการค้ากับตลาดโลกในอนาคตได้มากขึ้น ปัจจุบันไทยเบฟครองอันดับ 9 ของเอเชีย ด้วยมูลค่า 3.92 แสนล้านบาท

เดินหน้าดันธุรกิจสุรา โตต่างแดน

“ไทยเบฟ” เดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าหลักอย่างรวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ก็ยังคงรักษาตําแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งไว้ได้ คาดอุปสงค์ต่อสินค้าและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้

สำหรับการรุกแผนการตลาดในต่างประเทศ ไทยเบฟเดินหน้าขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียม พร้อมเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก(Larsen Cognac) ในฝรั่งเศส 58.5 ล้านยูโร ธุรกิจที่ไทยเบฟต้องการซื้อมาร่วม 10 ปีแล้ว และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่(Cardrona Distillery) รวมถึงกิจการวิสกี้แบบซิงเกิลมอลต์ของนิวซีแลนด์ ด้วยงบไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้เป็นก้าวแรกในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ที่จะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราของไทยเบฟ

อาณาจักรน้ำเมา “ไทยเบฟ” ไล่ซื้อกิจการ-อัดงบลงทุน เสริมแกร่งตลาดเอเชีย

ทุ่มงบ 4 พันล้าน ยึดกัมพูชาฐานผลิตใหม่

“ไทยเบฟ” เตรียมแผนทุ่มเงินลงทุน 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสำหรับลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ เพื่อผลิตเบียร์และชาเขียวในกัมพูชาราว 4,000 ล้านบาท ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท จะไว้สำหรับลงทุนในไทย อาทิ ด้านระบบขนส่งต่างๆ โดยก่อนหน้านี้ตลาดกัมพูชาเป็นตลาดส่งออกของไทยเบฟอยู่แล้ว

แต่เล็งเห็นถึงศักยภาพของกัมพูชา ที่นอกจากจะเป็นฐานการผลิตแล้วนั้น ยังสามารถเชื่อมต่อด้านการขนส่งไปยังเวียดนามซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทยเบฟด้วย จึงตัดสินใจควักงบ 4,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนสำหรับทำโรงงานผลิตเบียร์ครั้งแรกที่ประเทศกัมพูชา และสำหรับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเริ่มกระบวนการสร้างให้เร็วที่สุด คาดใช้เวลา 2 ปีในการดำเนินงานตามขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ให้แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ “ไทยเบฟ” จะมีการศึกษาเรื่องการเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เพิ่มเติมภายในปี 2567 เนื่องจากเล็งเห็นว่าสปป.ลาว และกัมพูชา มีส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อไปยังเวียดนามได้ และในส่วนของการเข้าไปขยายตลาดในจีนนั้น เป็นการเข้าไปเพื่อเรียนรู้สภาพตลาด รูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจ เทคโนโลยีใหม่รูปแบบใหม่ ระบบขนส่งต่างๆ ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการลงทุนเพื่อเข้าไปควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันได้มีการร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นในการทำธุรกิจสุราพรีเมียมในมณฑลกวางตุ้ง เพิ่มเติมจากโรงงานสุราขาวที่มีในมณฑลยูนนาน

เสริมแกร่ง รอวันผงาดตลาดเอเชีย

“ฐาปน” บอกอีกว่า วันนี้ไทยเบฟ มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ด้วยปริมาณการขายอยู่ที่ 2,300 ล้านลิตร ในส่วนของการแข่งขันในตลาดไทยที่มีผู้เล่นใหม่เข้ามาเสริมทัพ โดยรวมมองว่าภาพรวมตลาดน่าจะเติบโตขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา และมองเป็นการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ เป็นโอกาสให้ได้มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง

รวมถึงได้ดูว่าไทยเบฟจะสามารถดำเนินธุรกิจเพิ่มเติมด้านไหนได้อีกหรือไม่ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึง PASSION 2025 ที่พร้อมซินเนอยีกับธุรกิจในเครือเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในตลาดเอเชีย โดยเฉพาะในจีน จากปัจจุบันที่อยู่ใน Top 10 ของเอเชียแล้ว ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไร “ไทยเบฟ” เองศึกษาแบบรอบด้าน ทั้งการนำ BeerCo เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เพื่อระดมทุน หรือการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นและการลงทุนในโปรเจ็กต์จัมโบ้ เป็นต้น

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,930 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566