ผ่าธุรกิจ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คุมตลาดนํ้าเมา3แสนล้าน

16 มิ.ย. 2566 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2566 | 12:17 น.
2.0 k

เปิดข้อมูลการดำเนินธุรกิจของ 3 บริษัทยักษ์แห่งวงการน้ำเมา ทั้งค่ายไทยเบฟ บุญรอดและ รีเจนซี่ พบครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศเกือบทั้งหมด กว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการล่าสุดในปี 2565 ทำกำไรอู้ฟู้

สุราก้าวหน้า นโยบายสำคัญของพรรคก้าวไกล ถูกกำหนดไว้เป็นหนึ่งในวาระภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ของ 8 พรรคการเมือง ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยหวังว่านโยบายดังกล่าว จะเป็นนโยบายหลักในการยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม โดยเฉพาะในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทางพรรคก้าวไกลอ้างว่า ต้องการปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อย และสุราชุมชน เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์ มีรายได้ และอาชีพ

 แต่การผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้าก็ไม่ง่ายนัก เพราะที่ผ่านมานอกจากร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะถูกสภาผู้แทนราษฎร ตีตกในวาระที่ 3 แล้ว เรื่องสำคัญอีกอย่างคือ การทลายทุนผูกขาด ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของพรรคก้าวไกล ยังคงเป็นเรื่องยาก หากพิจารณาข้อมูลการประกอบธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 แห่ง คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศเกือบทั้งหมด

ปัจจุบันส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศนั้น สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ประเมินแนวโน้มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ในปี 2566 จะมีมูลค่าตลาดมากกว่า 3 แสนล้านบาท ขยายตัวสูงกว่าปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศกลับมาขยายตัวได้ดี

ผ่าธุรกิจ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คุมตลาดนํ้าเมา3แสนล้าน

“ฐานเศรษกิจ” รวบรวมข้อมูลการดำเนินธุรกิจของบริษัททั้ง 3 แห่ง ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะธุรกิจในมือของบริษัท ซึ่งครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการผลิต การขนส่ง และการจัดจำหน่าย แยกเป็นรายต่างๆ ดังนี้

ช้างครองตลอดซัพพลายเชน

สำหรับ “ค่ายช้าง” บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ของไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิต สุรา เบียร์ และผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหลายยี่ห้อในประเทศ มีบริษัทในเครือไม่น้อยกว่า 138 บริษัท ในไทย 93 แห่ง ต่างประเทศ 44 แห่ง โดยปัจจุบันได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และแจ้งผลประกอบการในรายงานประจำปี 2565 พบว่า บริษัทมีรายได้รวม อยู่ที่ 279,943 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขาย 272,359 ล้านบาท ส่วนต้นทุนขายอยู่ที่ 191,902 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 34,505 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมพบว่ามีอยู่สูงถึง 507,789 ล้านบาท และหนี้สินรวมมีอยู่ 258,400 ล้านบาท

สำหรับสัดส่วนรายได้จากการขายในปี 2566 พบว่า รายได้จากการขายส่วนใหญ่ คือ ธุรกิจเบียร์ คิดเป็นสัดส่วน 45% รองลงมา คือ ธุรกิจสุรา 43% และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร มีสัดส่วนเท่ากันที่ 6% โดยมีปริมาณการขายในธุรกิจเบียร์ จำนวน 2,493 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 2,167 ล้านลิตร ธุรกิจสุรามีปริมาณการขาย 698 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มี 695 ล้านลิตร และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1,617 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มี 1,458 ล้านลิตร

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยังพบว่า นอกเหนือจากธุรกิจหลัก 4 ประเภท คือ กลุ่มธุรกิจเบียร์ กลุ่มธุรกิจสุรา กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และกลุ่มธุรกิจอาหารแล้ว บริษัทยังถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ ครอบคลุมตลอดซัพพลายเชน ทั้ง กลุ่มธุรกิจบริหารช่องทางการจำหน่าย ครอบคลุมธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง ทั้ง ร้านอาหาร พลังงาน การผลิตและจำหน่ายถังไม้โอ๊ค รีไซเคิล อาหารสัตว์ อาหารเสริม ธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่าย กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งธุรกิจการให้บริการด้านตลาด

นอกจากนี้เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังพบด้วยว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีฐานะเป็น Holding Company ยังเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ อย่างน้อย 39 บริษัท โดยถือหุ้นบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด ในสัดส่วนมากที่สุด 79.66% รวมทั้งถือหุ้นในบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หลายจังหวัด ในสัดส่วนตั้งแต่ 1-25% และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด สัดส่วน 4.08%

ผ่าธุรกิจ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คุมตลาดนํ้าเมา3แสนล้าน

รายได้ค่ายสิงห์ทะลุหมื่นล้าน 

ส่วน “ค่ายสิงห์” บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยปัจจุบันมีบริษัทในเครือทั้งหมด 9 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม ประกอบด้วย บริษัท สามเสน บริวเวอรี่ จำกัด , บริษัท ปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท เชียงใหม่ เบเวอเรช จำกัด, บริษัท ขอนแก่น บริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท วังน้อย เบเวอเรช จำกัด, บริษัท บุญรอดเอเซียเบเวอเรช จำกัด, บริษัท สุราษฎร์ธานี เบเวอเรช จำกัด, บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด และ บริษัท มหาสารคาม เบเวอเรช จำกัด

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งมีฐานะเป็น Holding Company ล่าสุดได้แจ้งผลการดำเนินงานในปี 2565 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัทมีรายได้รวม 11,711 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายรวม 5,722 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 5,793 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวมกว่า 55,325 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทยังเข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ อย่างน้อย 20 บริษัทในเครือ

โดยบริษัทที่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ถือหุ้น 100% ประกอบด้วย บริษัท สิงห์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮดควอร์เตอร์ จำกัด, บริษัท เอ็กซ์วายพี บี (เอเซีย) จำกัด เป็นบริษัทรับพิมพ์สิ่งพิมพ์ พิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ทุกชนิด ,บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด,บริษัท พิพิธภัณฑ์สิงห์ จำกัด, บริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด, บริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด, บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด บริษัท สิงห์ เทรนด์ จำกัด และ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งในปี 2565 พบข้อมูลการดำเนินธุรกิจว่า สิงห์ คอร์เปอเรชั่น มีรายได้รวมถึง 3,670 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 3,267 ล้านบาท  

นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในสายงานการผลิต ซึ่งบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท บางกอก กล๊าส จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจแก้วและบรรจุภัณฑ์ บริษัทฝาจีบ ร้านอาหาร สมุนไพรค้าส่ง โลจิสติกส์ รวมถึงยังแตกไลน์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง บริษัท สิงห์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสินทรัพย์รวมเป็นมูลค่ากว่า 26,561 ล้านบาทอยู่ด้วย

รีเจนซี่กำไรเฉียดพันล้าน

ขณะที่ “รีเจนซี่” โดย บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสุรา และน้ำดื่ม ที่กำลังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าล่าสุด พบว่า บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ในปี 2565 มีรายได้รวมสูงถึง 10,628 ล้านบาท รายจ่ายรวม 9,442 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 947 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 44.11% ส่วนสินทรัพย์รวมของบริษัทมีมากถึง 10,706 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเมื่อดูข้อมูลโครงสร้างของบริษัท ซึ่งมีนายณรงค์ โชคชัยณรงค์ เป็นผู้บริหาร และถือหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุรา โดยเฉพาะบริษัท โรงงานสุราพิเศษสุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจการผลิตสุรากลั่น พบว่า ในปี 2565 มีรายได้รวมถึง 9,376 ล้านบาท รวยจ่ายรวม 7,408 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 69.01% ส่วนสินทรัพย์รวมของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 11,306 ล้านบาท

นอกจากนี้เมื่อดูแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจบริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ยังพบข้อมูลว่า บริษัทมีรายได้ หลักพันล้านบาท และมีกำไรในระดับหลักร้อยล้านบาทต่อปีมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอัตราการเติบโตของการดำเนินธุรกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2561-2565 พบว่า ในปี 2561 บริษัทมีรายได้ 9,412 ล้านบาท กำไรสุทธิ 776 ล้านบาท ปี 2562 บริษัทมีรายได้ 9,090 ล้านบาท กำไรสุทธิ 727 ล้านบาท ปี 2563 บริษัทมีรายได้ 8,041 ล้านบาท กำไรสุทธิ 636 ล้านบาทซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นมาในปี 2564 บริษัทมีรายได้ 8,295 ล้านบาท กำไรสุทธิ 657 ล้านบาท และ ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 10,628 ล้านบาท กำไรสุทธิ 947 ล้านบาท

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,896 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566