zero-carbon
1.8 k

เปิดนโยบายหนุน "EV" คู่รถยนต์สันดาปภายในแบบไม่ทอดทิ้งฉบับ BOI

    เปิดนโยบายหนุน "EV" คู่รถยนต์สันดาปภายในแบบไม่ทอดทิ้งฉบับ BOI เผยยังคงยึดแนวทาง 30@30 ตามเดิม เผยมีการหารือกับทุกค่ายทุกประเทศหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการดันไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยถึงการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถยนต์สันดาปภายในและยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ว่า จะดำเนินการควบคู่กันไปตามแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด

ทั้งนี้ เป้าหมายทางด้าน EV ของไทยยังคงเป็นไปตามนโยบาย 30@30 ซึ่งหมายถึงว่านอกเหนือจาก 30% ที่เป็น EV แล้ว อีก 70% ที่เหลือก็คือรถดั้งเดิม ทั้งรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ,ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริดนั้น จะต้องหาแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป

"ยืนยันว่าอีก 70% ของอุตสาหกรรมยานยนต์จะไม่ถูกท้องทิ้งอย่างแน่นอน"   

สำหรับการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยขึ้นมาได้ถึงปัจจุบันนั้น จุดแข็งของไทยคือซัพพายเชนจ์ซึ่งมี 2 ส่วน ได้แก่ 

บริษัทไทยที่มีขีดความสามารถที่จะผลิตชิ้นส่วนได้ และได้รับการพัฒนามาตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งบริษัทไทยจำนวนมากมีความสามารถในการร่วมงานกับบริษัทต่างชาติเพื่อผลิตชิ้นส่วนต่างๆป้อนให้กับผู้ผลิตเหล่านี้ได้  และเป็นชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะประกอบด้วยบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยทั้ง 2 ส่วนได้แก่ บริษัทของไทย และบริษัทต่างชาติมีการทำงานร่วมกัน มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทำให้ซัพพายเชนจ์ในไทยแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น

"เช่นเดียวกันในเวลาที่ไทยกำลังจะมีอีวีเป็นอุตสาหกรรมใหม่ การสร้างซัพพายเชนจ์ต่อยอดอีวี เป็นหัวใจสำคัญ และเป็นปัจจัยให้ไทยสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว"

เปิดนโยบายหนุน "EV" คู่รถยนต์สันดาปภายในแบบไม่ทอดทิ้งฉบับ BOI

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการต่อยอดดังกล่าว ประกอบด้วย 
 
การทำให้ซัพพายเออร์ในไทยปัจจุบันเข้าไปอยู่ในซัพพายเชนจ์ให้มากที่สุด โดยในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา บีโอไอได้ดำเนินการในหลากหลายแนวทาง เช่น การจัดกิจกรรมในการพาบริษัทไทยที่ผลิตชิ้นส่วนได้มาพบกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในบางชิ้นชิ้นส่วนสำคัญของอีวี เช่น แบตเตอรรี่และมีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งบริษัทในประเทศอาจจะยังไม่สามารถผลิตได้ ก็มีการดึงผู้ผลิตจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานในไทย โดยมุ่งหวังให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่กัน ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตบริษัทไทยน่าจะผลิตได้มากขึ้น

นายนฤตม์ กล่าวต่อไปอีกว่า การกระตุ้นจากเทคโนโลยีเดิมไปสู่อีวีนั้น บีโอไอค่อนข้างเปิดกว้าง และรับฟังทุกค่าย โดยมุ่งหวังจะนำมาออกแบบมาตรการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และมาหารือกับรัฐบาล รวมถึงหน่วยงาทนที่เกี่ยวข้อง
 

"ปัจจุบันบีโอไอมีการหารือกับทุกค่ายของทุกประเทศ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการผลักดันให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลก โดยมีเป้าหมายให้ไทยที่ 1 ในอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของโลกทุกอุตสาหกรรม โดยเวลาไปพบกับบริษัทต่างชาตินอกจากชวนมาลงทุนโรงงานผลิตในไทยแล้ว ช่วงหลังจะชวนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย รวมถึงการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดผลกับไทยมากกว่าโรงงานผลิตอย่างเดียว"

ด้านแนวโน้มอุตสาหกรรม EV ในไทยนั้น ล่าสุดมีหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างร้างโรงงาน และติดตั้งไลน์การผลิต  ไม่ว่าจะเป็น MG ,NETA ,ฉางอัน ,BYD และAION โดยคาดว่าปี 67 ส่วนใหญ่จะเริ่มผลิตรถอีวีในไทยได้

"ตลาดในไทยตอบรับอีวีดีมาก หากไปดูแนวโน้มการจดทะเบียนรถอีวีในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่ารถใหม่ที่เป็นอีวีมีการจดทะเบียนที่สูงมาก ประมาณ 15% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาค โดยเชื่อว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมอีวีน่าจะไปได้ด้วยดี ทั้งตลาดตอบรับ และมีผู้ที่จะเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการเริ่มผลิต ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีของประเทศ โดยบีโอไอจะพยายามทำให้ซัพพายเชนจ์ของอีวีมีความเข้มแข็ง รวมทั้งระบบนิเวศน์โดยเฉพาะสถานีชาร์ต โดยบีโอไอส่งเสริมไปแล้ว 11 โครงการในส่วนสถานีชาร์ต หรือประมาณ 1.1 หมื่นหัวจ่ายที่ทยอยติดตั้งอยู่"