zero-carbon

"ปตท.สผ."ทุ่มลงทุนกว่าหมื่นล้านเก็บคาร์บอนใต้อ่าวไทยลดโลกร้อน

    "ปตท.สผ."ทุ่มลงทุนกว่าหมื่นล้านเก็บคาร์บอนใต้อ่าวไทยลดโลกร้อน เผยต้องการให้มีการกำหนดกลไกทางด้านคาร์บอนเครดิต หรือภาษีคาร์บอน รวมถึงกฎระเบียบที่ชัดเจนในการติดตาม ตรวจสอบคาร์บอนที่กักเก็บ

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยในนสัมมนาของการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 2 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2023) ว่า ขณะนี้โลกได้ก้าวไปถึงทางแยกสำคัญที่ต้องเลือกระหว่างการเข้าสู่วิกฤติทางสภาพภูมิอากาศโลก กับการเดินเข้าสู่สภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอน 

โดยปัจจุบันเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage: CCS) ถือว่าพิสูจน์แล้วว่ามีความเป็นไปได้และมีโครงการ CCS เกิดขึ้นมากกว่า 300 โครงการทั่วโลก 

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย หากจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ตามเป้าหมาย จะต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ถึง 40 ล้านปี 

ซึ่งถือว่าเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะถ้าเทียบกับการปลูกป่า  1 ล้านไร่ จะสามารถลดปริมาณคาร์บอนได้เพียง 1-2 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ดี ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่ปราศจากคาร์บอน ปตท.สผ.จึงมีโครงการทดลองกักเก็บคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย โดยมีเป้าหมายกักเก็บคาร์บอน  1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2027 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และมีผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ จึงต้องการให้ภาครัฐมีการกำหนดกลไกทางด้านคาร์บอนเครดิต หรือภาษีคาร์บอน รวมถึงกฎระเบียบที่ชัดเจนในการติดตาม ตรวจสอบคาร์บอนที่กักเก็บ และภาระผูกพันต่าง ๆ ที่จะเอื้อให้โครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้