energy
4.3 k

รู้จัก "ค่าการตลาด" หลังถูกกล่าวหาเป็นเหตุทำราคาน้ำมันในไทยแพง

    รู้จัก "ค่าการตลาด" หลังถูกกล่าวหาเป็นเหตุทำราคาน้ำมันในไทยแพง และนำไปสู่การแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้เกิน 2 บาทจากนโยบายของรมว.พลังงาน ด้านแหล่งข่าวชี้ต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน

"ค่าการตลาด" กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง หลังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวคิดแก้ไขกฎหมาย เพื่อกำหนด ค่าการตลาดราคาน้ำมันทุกชนิดไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามจะมีการเพิ่มบทลงโทษหลังจากที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ในการกำหนดค่าตลาดที่มันเกิน 2 บาท แต่บางรายกลับมีค่าการตลาดสูงถึง 4 บาทต่อลิตร เพราะมองว่าเป้นต้นเหตุที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยแพง

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปทำความรู้จักับค่าการตลาดว่าคืออะไร และมีความเกี่ยวข้องอย่างไร หรือไม่กับการเป็นต้นเหตุทำให้ราคาน้ไมันขายปลีกในประเทศแพง

ค่าการตลาดคืออะไร

ค่าการตลาดคือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

อย่างไรก็ดี โครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายในหน้าปั๊ม มีปัจจัยหลายตัวมาเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 

  • ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
  • ภาษี มีการจัดเก็บ ดังนี้

ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้ กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

  • กองทุน มีการจัดเก็บ ดังนี้

เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

รู้จัก "ค่าการตลาด" หลังถูกกล่าวหาเป็นเหตุทำราคาน้ำมันในไทยแพง

"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบพบว่า ค่าการตลาดน้ำมัน ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ดังนี้

  • เบนซิน 95 ค่าการตลาด 3.4174 บาทต่อลิตร
  • แก็สโซฮอล์ 95 (E10)  ค่าการตลาด  3.4506 บาทต่อลิตร
  • แก็สโซฮอล์ 91  ค่าการตลาด  3.6546 บาทต่อลิตร
  • แก็สโซฮอล์ E20  ค่าการตลาด  3.7406 บาทต่อลิตร
  • แก็สโซฮอล์ E85 ค่าการตลาด  4.0714 บาทต่อลิตร
  • ดีเซล B7  ค่าการตลาด  2.0203 บาทต่อลิตร
  • ดีเซล B10  ค่าการตลาด  2.0203 บาทต่อลิตร
  • ดีเซล B20  ค่าการตลาด  2.0203 บาทต่อลิตร
  • LPG  ค่าการตลาด  3.2566 บาทต่อลิตร

ต่อประเด็นเรื่องค่าการตลาดนั้น แหล่งข่าวอดีตผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบนำเข้าน้ำมันแบบเสรี โดยมองว่าต้นทุนน้ำมันที่เป็นการขายปลีกจะกล่าวถึงแค่ค่าการตลาดเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ซึ่งหากยกตัวอย่างแบบง่าย ให้มองไปที่ค่าเงินบาทในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา มีการอ่อนค่าจาก 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯมาอยู่ที่ประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งพียงแค่ปัจจัยดังกล่าวแค่ด้านเดียวก็ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในไทยขึ้นแล้วหลายบาท แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่ปรับตัวขึ้นก็ตาม

"เมื่อต้นทุนจากต่างประเทศขึ้น ย่อมส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่สงครามในต่างประเทศเองก็ยังไม่มีข้อยุติ หากไปคุมค่าการตลาดจาก 3 บาทต่อลิตรให้เหลือ 2 บาทต่อลิตร ราคาขายหน้าปั๊มก็จะลดลงแค่เพียง 1 บาท แต่เวลาน้ำมันตลาดโลกขึ้นจริงส่วนใหญ่จะครั้งละ 5 บาท"

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการนำเสนอก็คือ ควรเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากรอบด้าน โดยปัจจุบันมีการแข่งขันที่เสรีอยู่แล้ว และเป็นการแข่งขันที่แท้จริง จนทำให้บางบริษัทต้องขายบริษัทอย่างที่เป็นข่าว 

"ประเด็นที่นายพีระพันธุ์ต้องการจะดำเนินการ เป็นขั้นตอนของกฎหมายซึ่งคงไม่ได้เกิดขึ้นในทันที ต้องผ่านกระวบการออกกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการของสภาฯ ถึงจะออกมาเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)"

หากถามว่าต้องการแก้ปัญหาน้ำมันแพงจะต้องทำอย่างไรนั้น มองว่าต้องใช้หลายวิธีประกอบกัน เช่น ส่งเสริมให้มีการประหยัด รวมถึงต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่าราคาน้ำมันเป็นสินค้าที่ไม่สามารถควบคุมได้แบบ 100% เพราะเป็นการนไเข้าจากต่างประเทศ 80-90% เวลาที่นำมันขึ้นซึ่งก็ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีจากภาวะสงคราม และโอเปกที่จำกัดการผลิต ซึ่งทำให้มีความต้องการมากกว่าปริมาณ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับให้ได้ว่าราคาน้ำมันยังคงต้องอยู่ในระดับสูงต่อไป 

"ตนมีข้อสังเกตุ หรือจะเรียกว่าสงสัยก็ได้ว่า การเก็บเงินชดเชยน้ำมันดีเซลไว้มาก และมีการชี้นำค่าการตลาดดีเซลในระดับต่ำ ทำให้มีการชดเชยข้ามกลุ่ม ซึ่งหมายความว่ามีการเก็บภาษีเบนซินจำนวนมาก เพื่อนำมาอุดหนุนดีเซล กับ LPG ทำให้ราคาเบนซินยิ่งแพงขึ้น หากมีการแยกการสนับสนุนราคาน้ำมันเบนซินก็คงไม่แพงขนาดนี้"

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับด้วยว่าส่วนหนึ่งที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นมาจากการที่ค่าเงินบาทอ่อน และราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ลดลง ขณะที่ภาษีเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ก็ไม่ได้มีการปรับลด ดังนั้น จึงต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นรายได้เดียวเพื่อช่วยพยุงด้วยการนำไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซล และLPG โดยในระยาวจะส่งผลทำให้เกิดการก่อหนี้สะสม ซึ่งควรได้รับการพิจารณา

สำหรับประเด็นเรื่องค่าการตลาดที่จะควบคุมนั้น ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด แต่ประเด็นที่ต้องการจะสื่อก็คือปัจจุบันค่าการตลาดมีการชี้นำจากองค์กร หรือหน่วยงานจากภาครัฐอยู่ โดยค่าการตลาดที่ประกาศโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานเป็นเพียงค่าการตลาดเงามากกว่า ไม่ใช่ค่าการตลาดจริง ซึ่งหากจะเปรียบก็คือเสมือนตั๋วเครื่องบิน โดยหากซื้อล่วงหน้า 3 เดือนและไม่เปลี่ยนเที่ยวบินจะได้ราคาถูก แต่หากซื้อแบบทันทีแล้วเดินทางก็จะได้อีกราคาหนึ่ง 

"ผู้ค้าน้ำมันเองบางครั้งก็มีลูกค้าชั้นดี ลูกค้าขาจร หรือลูกค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่าย (Jobber) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่านำรถมารับเอง หรือต้องนำไปส่งให้ ทำให้มีราคาที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นค่าการตลาดจึงเปรียบเสมือนเป็นการแบ่งกลุ่มลูกค้า ไม่ใช่ว่าจะขายทุกเจ้าราคาเท่ากันหมด ซื้อจำนวนมากก็ได้ส่วนลด โดยเป็นกลยุทธืการขายของแต่ละเจ้า"