"อีอีซี" จับมือภาคีรัฐ-เอกชน นำร่องใช้รถโดยสารอีวี ประเดิม 100 คัน

02 ต.ค. 2566 | 17:28 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 17:45 น.

อีอีซี รวมพลังภาคีภาครัฐ-เอกชน นำร่องหนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะและรับส่งพนักงาน ร่วมพัฒนาระบบนิเวศการลงทุน คาดปี 2566 เกิดรถโดยสารไฟฟ้า 100 คัน ตั้งเป้าใน 5 ปี เพิ่มเป็น 6,000 คัน พร้อมอัดมาตรการจูงใจดึงลงทุนคลัสเตอร์ EV

ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่จับมือกันสู่สังคมคาร์บอนตํ่า โดยสนับสนุนให้หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดทางสำนักงาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) หรืออีอีซี จับมือกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) และมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีถ่ายทอดองค์ความรู้ ขับเคลื่อนการลงทุนและใช้ประโยชน์จากรถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะและรับส่งพนักงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว ทุกฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ การติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าเพื่อรองรับ รวมไปถึงขยายผลสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการฯ โดยอีอีซี จะร่วมขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศจูงใจให้เกิดการลงทุน เช่น เรื่องสิทธิประโยชน์รูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกเพิ่มความรวดเร็วในการอนุมัติ อนุญาตที่อีอีซีสามารถออกใบอนุญาตแทนหน่วยงานต่าง ๆ ได้ถึง 44 ใบอนุญาต คาดว่าจะเริ่มได้ในมกราคม ปี 2567

\"อีอีซี\" จับมือภาคีรัฐ-เอกชน นำร่องใช้รถโดยสารอีวี ประเดิม 100 คัน

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบการใช้รถโดยสารไฟฟ้า สำหรับขนส่งสาธารณะและรับ-ส่งพนักงานสำหรับประชาชน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่อีอีซี โดยในปี 2566 นี้ คาดว่า จะเกิดการใช้รถโดยสารไฟฟ้า อย่างน้อย 100 คัน พร้อมสถานีชาร์ท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5 พันตันต่อปี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนาวัตถุดิบสินค้าในประเทศ (local content) เพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 60% สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 360 ล้านบาท และมีเป้าหมายของโครงการ ฯ ในระยะ 5 ปี จะสามารถเพิ่มรถโดยสารไฟฟ้า 6,000 คัน

อย่างไรก็ตามในภาพใหญ่ของทั้งประเทศ คาดว่าภายใน 2 ปี หากสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าได้ 10,000 คันทั้งประเทศ จะมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 60,000 ล้านบาท เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 48,000 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 5 แสนตันต่อปี

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า จะสนับสนุนการเข้าถึงการบริการทางการเงินของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการประกอบธุรกิจ โดยธนาคารเห็นถึงโอกาสในการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต

ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีความพร้อมในการสนับสนุนการทดสอบเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้จริง และยกระดับระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่อีอีซี รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบในการทดสอบมาตรฐาน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ สวทช. ที่ต้องการสนับสนุนเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้าต่อไป

\"อีอีซี\" จับมือภาคีรัฐ-เอกชน นำร่องใช้รถโดยสารอีวี ประเดิม 100 คัน

นายกิติพงค์  พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ เป็นการนำร่องให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำคัญให้มีคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และสร้างซัพพลายเชนในประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไร้มลพิษ และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย