สรุปผลงานแก้โลกร้อน "ประยุทธ์" ส่งไม้ต่อ "เศรษฐา" เร่งลดก๊าซเรือนกระจก

25 ก.ย. 2566 | 07:24 น.

สรุปผลงานแก้โลกร้อน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ช่วงรัฐบาล “ประยุทธ์” ส่งไม้ต่อรัฐบาล “เศรษฐา” สานต่อเร่งลดก๊าซเรือนกระจก บริหารจัดการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ

การแก้ปัญหาโลกร้อน และ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ นับเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ โดยประเทศไทยเอง ได้บรรจุเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเอาไว้อย่างชัดเจนภายใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2565) ซึ่งอยู่ในช่วงของการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยกำหนดแนวทางการเร่งเตรียมความพร้อมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งล่าสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้สิ้นสุดลงแล้ว 

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปรายละเอียดของผลการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการลดก๊าซเรือนกระจกและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถูกจัดไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยภาพรวมพบว่า เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว ปัญหาโลกร้อน และ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ความก้าวหน้าด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีทิศทางดีขึ้น โดยในปี 2564 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงานลดลงจาก 258.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เหลือ 246.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ 

โดยเป็นการลดลงของภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มข้น ในช่วงปี 2563 - 2564 เช่น การจำกัดการเดินทาง การขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทำงานจากที่บ้าน (Work from Horne) เป็นต้น

ส่วนต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วย (บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) มีแนวโน้มลดลง เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม ในประเทศในภาคพลังงาน พบว่า ปี 2564 มีปริมาณ 23.46 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อจีดีพี 1 ล้านบาท โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ในช่วงปี 2540 - 2562 ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

 

ความก้าวหน้า ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ด้านสิ่งแวดล้อม

จัดทำแผนแผนปฏิบัติรับปรับตัว

สำหรับแผนปฏิบัติการการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรายสาขาที่จำเป็น เช่น การจัดการน้ำ เกษตร สาธารณสุข และป่าไม้ ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ 

ทั้งนี้เพื่อเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณาการประเด็นการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงตามความเห็นของ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการนำเสนอต่อ สศช. เพื่อพิจารณากลั่นกรอง ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบ และยังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้าน สาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2573)

สร้างกลไกสนับสนุนด้านการเงิน

นอกจากนี้ยังมีกลไกภายในประเทศเพื่อสนับสนุนด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันกลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และอยู่ระหว่างจัดทำกรอบการดำเนินการความร่วมมือในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) 

พร้อมทั้งเริ่มดำเนินโครงการสนับสนุนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ภายหลัง ค.ศ. 2020: การสร้างความยั่งยืนผ่านกลไกทางด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณสาธารณะ 

รวมไปถึงการสนับสนุนนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการศึกษามิติด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ และการมีส่วนร่วมทางสังคมในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ร่วมกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

สรุปผลงานแก้โลกร้อน \"ประยุทธ์\" ส่งไม้ต่อ \"เศรษฐา\" เร่งลดก๊าซเรือนกระจก

 

แผนการพัฒนาในระยะต่อไป

สำหรับการพัฒนาในระยะต่อไป สู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 นั้น สศช. ระบุว่า ผลการดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 เป็นไปตามเป้าหมาย มีความก้าวหน้ามากขึ้น และบรรลุผลเป็นรูปธรรมหลายประการ 

โดยสามารถรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้มากขึ้น อีกทั้งสามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนได้ เพิ่มขึ้นและบรรลุเป้าหมายของแผนฯ มีการจัดการระบบน้ำเพื่อบรรเทาการขาดแคลนน้ำและเพื่อการเกษตรกรรม โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากสภาพความเป็นเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น วิถีชีวิตของประชาชนและพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้รูปแบบการผลิตสินค้าและบริการมีการปรับเปลี่ยน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบายในการบริโภค ส่งผลให้การลดมลพิษในรูปแบบต่างๆ เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมาย 

อาทิ ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น และการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนอย่างถูกต้องและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ยังดำเนินการได้น้อยและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ คุณภาพน้ำและคุณภาพอากาศยังมีปัญหาในบางพื้นที่ อันเนื่องมาจากการป้องกัน ฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม ประชาชนยังขาดจิตสำนึกและยังมีการร่วมมือกับภาครัฐน้อยในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหาร จัดการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังขาดความพร้อมในการบริหารจัดการ

 

สรุปผลงานแก้โลกร้อน \"ประยุทธ์\" ส่งไม้ต่อ \"เศรษฐา\" เร่งลดก๊าซเรือนกระจก

 

ดังนั้น การพัฒนาในระยะต่อไปจึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคมให้บริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ในกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ในด้านการเกษตรควรส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และการทำเกษตรที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดปัญหาสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกของประชาชนในทุกภาคส่วนซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค 

รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและรณรงค์ให้ผู้ประกอบการลดการใช้วัตถุดิบและบริหารจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

อาทิ พื้นที่แนวปะการัง ป่าชายเลน พื้นที่ชุ่มน้ำ มีมาตรการการรักษาป่าธรรมชาติให้คงสภาพสมบูรณ์ และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในเขตต้นน้ำและลุ่มน้ำสาขาให้กลับคืนเป็นแหล่งน้ำต้นน้ำตามธรรมชาติดังเดิม 

รวมทั้งเร่งดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อลดและควบคุมมลพิษ ส่งเสริมให้มีการคัดแยกและนำขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากที่สุด โดยผลักดันให้เกิดการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการเกิดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ณ แหล่งกำเนิด จัดระบบการเรียกคืนซากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ตามหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต 

รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการมลพิษเชิงพื้นที่ มีการกำหนดประเภทและจำนวนอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เพื่อควบคุมการระบายมลพิษตั้งแต่เริ่มกระบวนการไปจนถึงการบำบัดที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐด้วย