zero-carbon

อบก. ดันไทย ฮับซื้อขายคาร์บอนเครดิตภูมิภาค

    อบก.จี้ทุกภาคส่วนเร่งปรับตัว รับกติกาค้าโลกใหม่ หนุนลงทุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชี้เป็นโอกาสของธุรกิจรับการแข่งขัน เตรียมเสนอแผน Net Zero รัฐบาลพิจารณา ก่อนรายงานเวที COP 28 ธ.ค.นี้ เร่งผลักดันข้อกฎหมาย ลดอุปสรรค ดันไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตของภูมิภาค

ประเทศไทย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ.2065 โดยเพิ่มมาตรการสำคัญ เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า อย่างน้อย 68 % ในปี ค.ศ. 2040 และเป็น 74 % ในปี ค.ศ. 2050 การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสัดส่วน 69 % ในปี ค.ศ. 2035

ยุติการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ในปี ค.ศ. 2050 ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage หรือ CCS และการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) การนำก๊าซไฮโรเจนมาใช้ในภาคพลังงาน ภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ในปี ค.ศ. 2045

รวมถึงการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากสาขาป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีเป้าหมายที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 120 ล้านตัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2037-2065

เท่ากับว่าไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 120 ล้านตัน จากที่ปล่อยกว่า 300 ล้านตัน จากปัจจุบันสามารถเก็บได้ 86 ล้านตัน ซึ่งในส่วนที่เหลือจะชดเชยด้วยการปลูกป่าดูดกลับ

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรืออบก.กล่าวในงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า วันนี้ทั่วโลกต่างเห็นภัยอันตรายจากการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ที่กลายมาเป็นศัตรูสำคัญ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยคาร์บอนฯ เพื่อนำไปสู่ Net Zero ที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัวไปสู่ลดการปล่อยคาร์บอนฯ หรือเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อรองรับกติกาทางการค้าของโลก ที่นำเรื่องการปกป้องโลกมาเป็นเงื่อนไขในการอยู่รอดของธุรกิจ

ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้สำเร็จ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรต้องปรับตัว และให้มองว่าเป็นโอกาสของธุรกิจมากกว่าการมองว่าเป็นค่าใช้จ่าย

อบก. ดันไทย ฮับซื้อขายคาร์บอนเครดิตภูมิภาค

ทั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายในการลดปล่อยคาร์บอนฯ จากเดิมที่ประเทศวางแผนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 % และปรับเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2030 แต่หากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จะสามารถลดการปล่อยเพิ่มเป็น 40% ได้ ซึ่งในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (UNFCCC COP 28) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม พ.ศ.2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะมีการตอกยํ้าให้ประเทศพัฒนาแล้ว เร่งระดมเงินสนับสนุนให้ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อลดการสูญเสียและความเสียหายกับโลก

“แนวทางของไทย ในการดำเนินงานนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จะมีการทบทวนแผน และรายงานให้รัฐบาลรับทราบ เพื่อนำสู่การรายงานผลการดำเนินงานในการประชุม COP 28 ทั้งแผนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี การเลิกใช้ถ่านหิน การส่งเสริมใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนฯ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น มาตรการต่าง ๆ นี้ มีแผนชัดเจน ที่จะเสนอรัฐบาลในการผลักดันต่อไป โดยเฉพาะภาคพลังงาน”

นายเกียรติชาย กล่าวอีกว่า ดังนั้นเมื่อทุกภาคส่วนปรับตัวลงทุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถือว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ที่จะนำไปสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีปริมาณซื้อขายแล้ว 2.79 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 217.62 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2566 ราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 79.99 บาทต่อตัน

ดังนั้น อบก.พยายามจะผลักดันเรื่องนี้กับรัฐบาล อะไรที่ยังติดปัญหาหรือเป็นอุปสรรค อย่างเช่น ข้อกฎหมาย ที่จะต้องผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ก็จะสร้างความชัดเจนในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มมากขึ้น หรือความชัดเจนในการลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนในโครงการกักเก็บคาร์บอนฯ ที่จะมีมาตรการจูงใจด้านภาษี จากบีโอไอ เป็นต้น รวมถึงการจัดทำมาตรฐานต่าง ๆ ให้เป็นสากล ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของภูมิภาคนี้ได้

“เวลานี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้คาร์บอนเครดิต เป็นที่สนใจของนักลงทุน ที่จะซื้อไปชดเชยในการปล่อยคาร์บอนฯของตัวเอง ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ ที่ลงทุนหรือดำเนินโครงการดี ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก สามารถที่จะมาขึ้นทะเบียนกับ อบก.นำคาร์บอนที่ผ่านการรับรองแล้วไปขาย สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนผู้ที่ไม่สามารถลงทุนหรือลดการปล่อยคาร์บอนได้ก็สามารถจะซื้อคาร์บอนเครดิตไปชดเชยได้ ซึ่งอบก.จะผลักดันตลาดแลกเปลี่ยนนี้ขึ้นมา เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตอันใกล้”