การบินรักษ์โลกมุ่งเป้า Net Zero 2050 ปูพรมท่องเที่ยวยั่งยืน

09 ก.ย. 2566 | 12:49 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2566 | 13:00 น.

ICAO ผนึกสายการบินมุ่งเป้า Net Zero ปี 2050 ทอท.ชู 3 แนวทางลดคาร์บอน 50% ใน 4 ปีนี้ ปักธงกรีนแอร์พอร์ต การบินไทย วางธีม RELIFE ลดโลกร้อน เปลี่ยนชุดลูกเรือ ใช้ขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่ง วอนรัฐสนับสนุนเชื้อเพลิง SAF ลดต้นทุนรับกฏโลก ททท.ปูพรมยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวยั่งยืน

การจัดสัมมนาของ “ฐานเศรษฐกิจ” เรื่อง Road To NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 โดยในหัวข้อ Aviation & Tourism Sustainability ซึ่งมี 4 หน่วยงานหลักของไทยและของโลก ได้นำเสนอทิศทางในการขับเคลื่อนธุรกิจการบินและท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจการบิน

Road To NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ

ICAO ผนึกสายการบินมุ่งเป้า Net Zero ปี 2050

นายหม่า ตาว ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินโลกมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดย ICAO มีภาคีสมาชิกกว่า 190 ประเทศ ในการออกกฎระเบียบด้านการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอุตสาหกรรมการบินพลเรือนภายในปีค.ศ. 2050

หม่า ตาว

“การทำงานร่วมกันคือหัวใจสำคัญ” โดยแผนยุทธศาสตร์ ICAO Global Coalition for Sustainable Aviation เป็นการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความคิดใหม่ๆ และเร่งกระบวนการนำนวัตกรรมต่างๆมาใช้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนในอุตสาหกรรมการบินไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคพื้นดินหรือบนอากาศ เราต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคีสมาชิก ซึ่งไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ระหว่างทางมีทั้งความท้าทายแต่ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็น ACT-SAF program ที่ ICAO ริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกในการพัฒนาและนำแหล่งพลังงานใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาดมาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน เช่นช่วยทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การพัฒนานโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ

การให้คำแนะนำปรึกษาในภาคปฏิบัติเพื่อให้สามารถหาแหล่งสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green funding) เป็นโครงการระหว่างรัฐบาลของประเทศภาคีสมาชิกกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไทย เป็น 1 ใน 130 ประเทศที่เข้าร่วม SAF program มีบริษัทพลังงานชั้นนำอย่างบางจากเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะเริ่มเดินหน้าโครงการได้ในสิ้นปี 2024

ทอท.ปักธงกรีนแอร์พอร์ต

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวถึงทิศทางธุรกิจการบินที่ยั่งยืนของทอท.ว่าอุตสาหกรรมการบินมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กว่า 1 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นมาตรการสำคัญในเรื่องของ Non-Tariff Barriers (มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี) ที่กำลังเกิดขึ้นของโลก

กีรติ กิจมานะวัฒน์

โดยในส่วนของธุรกิจสนามบิน สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศหรือ ACI ก็มีการนำเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาใช้ในการจัดอันดับสนามบินด้วย ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจะมีผลต่อมาตรการที่จะมีการลดเที่ยวบินที่ไม่ใช่สนามบินกรีนแอร์พอร์ต หรือไม่มีเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ให้สายการบินเติม

ทอท.จึงมีเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ลง 50% ใน 4 ปีนี้ จากเดิมมีการปล่อยอยู่ที่ 3 แสนตันต่อปี ลดลงเหลือ 1.5 แสนตันต่อปี และเป้าหมายสุดท้ายคือ จะเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในอีก 10 ปี โดยทอท.มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1.การเพิ่มแหล่งพลังงานไฟฟ้าภายในสนามบินโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% ภายใน 2 ปี ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟลงได้อีก 30% ลดจาก 1 พันล้านบาท เหลือ 700 ล้านบาท

2.ทอท.จะปรับเปลี่ยนรถที่มีการใช้สนามบิน รวมถึงแท็กซี่ที่ให้บริการในท่าอากาศยานทั้งหมดให้เป็นรถไฟฟ้า ภายใน 4 ปีนี้

3.สนับสนุนให้มี Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน 5% ภายใน 4 ปี

การบินรักษ์โลกมุ่งเป้า Net Zero 2050 ปูพรมท่องเที่ยวยั่งยืน

วอนสนับสนุนเชื้อเพลิง SAF ลดต้นทุนรับกฏโลก

“วันนี้เชื้อเพลิง SAF ยังไม่มีผลิตในไทย และแพงกว่าน้ำมันเครื่องบินปัจจุบัน 8 เท่า ต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ ทั้งๆที่สิงคโปร์นำเข้าน้ำมันที่ใช้แล้วจากไทยไปผลิต ทอท.ก็มีแผนจะร่วมมือผู้ผลิตเพื่อผลิตและจัดหา SAF ที่ทำในประเทศได้ เพื่อให้ราคาน้ำมัน SAF ลดจาก 8 เท่าเหลือ 2.2 เท่า เพราะสายการบินจะต้องใช้ SAF ทยอยเพิ่มขึ้น” นายกีรติ กล่าวทิ้งท้าย

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากการบินไทยต้องปฏิบัติตามแนวทางการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรการของ ICAO โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิง Sustainable Aviation Fuel (SAF) หรือ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน

ชาย เอี่ยมศิริ

โดยต่อไปสายการบินจะต้องใช้ SAF ทยอยเพิ่มขึ้นในปี 2025 จาก 2% ปี 2030 อยู่ที่ 5% ไปจนถึง ในปี 2050 อยู่ที่ 60% ธุรกิจสายการบินต่างก็มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับมาตรการดังกล่าวที่ต้องเป็นไปตามกฏการบินของโลก 

อย่างในส่วนของการบินไทย ก็จะเห็นว่าการใช้ SAF 1% จะทำให้การบินไทยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปีละ 1,500 ล้านบาท 10% ก็เป็น 15,000 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐ หรือ Regulator (หน่วยงานกำกับดูแล) ที่น่าจะมีนโยบายในเรื่องของการส่งเสริมและเรื่องของอินเซ็นทีฟในการโปรโมทการผลิตน้ำมัน SAF ที่ชัดเจน เพื่อให้สอดรับการกฏการบินของโลกที่มุ่งสู่ Net Zero เกิดขึ้น

การบินไทย วางธีม RELIFE ลดโลกร้อน

ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีนโยบายชัดเจนเรื่องของความยั่งยืน ภายใต้ธีม RELIFE ที่จะมีธีมใหญ่จาก 3 เรื่อง คือ 1. From Planes To Planet เครื่องบินสู่โลก (ต้องคืนอะไรให้กับโลกบ้าง) 2.from Waste To Wealth จากขยะทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 3. From Purple To Purpose สีม่วงก็คือการบินที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้ทำงานอย่างมีวัตถุประสงค์ ทำให้มีประสิทธิภาพใช้งานได้จริง

การบินรักษ์โลกมุ่งเป้า Net Zero 2050 ปูพรมท่องเที่ยวยั่งยืน

ทั้งนี้เราจะมีแผนที่ตอบโจทย์ธีมต่างๆเหล่านี้ ทั้งเรื่องธุรกิจการบิน และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน โดยล่าสุดการบินไทยเตรียมจะเปิดตัวชุดลูกเรือใหม่ จากที่เป็นชุดไทยเป็นผ้าไหม เปลี่ยนเป็นการใช้ขวดพลาสติก (ขวดเพชร) นำมาเป็นชุดไทย ตอบสนองเรื่องของการลดโลกร้อน เป็นต้น

ททท.ปูพรมยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวยั่งยืน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกำลังถูกท้าทายด้วยสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ททท.มียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคุณภาพอย่างยั่งยืนโดยในปี 2024 การสื่อสารของททท. จะเน้นไปที่การสร้าง MEANINGFUL TRIP & RELATIONSHIP หรือการท่องเที่ยวที่มีความหมายจะต้องไม่ทำร้ายโลกและสิ่งแวดล้อม

การบินรักษ์โลกมุ่งเป้า Net Zero 2050 ปูพรมท่องเที่ยวยั่งยืน

ในเรื่องความยั่งยืน เรามีกลยุทธ Sustainable Now หลังจากนี้การท่องเที่ยวต้องเดินไปหาสิ่งแวดล้อมไทยมีทรัพยากรของประเทศเป็นต้นทุนที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆเป็นสิ่งดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว โดยททท.วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยเน้นกิจกรรมท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก   บรรลุเป้าหมายจัดการอย่างยั่งยืน (SDGs)  ปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอยางรวดเร็ว

การสานต่อแนวคิด Bio-Circular -Green Economy (BCG) ให้ความสําคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และกลุ่มผู้คน นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิด รวมทั้งสร้างการเพิ่มมูลค่ายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตราฐานผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านโครงการ TAT star 3-5 ดาว เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เกิดพัฒนา และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุลทุกมิติ เพื่อรับการประเมิน และก้าวสู่การเป็น High Value and Sustainable Tourism และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และความยั่งยืนต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย

การบินรักษ์โลกมุ่งเป้า Net Zero 2050 ปูพรมท่องเที่ยวยั่งยืน

ตอนนี้มีผู้ประกอบการตอบรับเข้ามามากกว่า 300 รายเราตั้งเป้าหมายในส่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2568 จะต้องมีผู้ประกอบการเข้าร่วมและได้รับสตาร์ไม่ต่ำกว่า 85% การที่ผู้ประกอบการได้รับมาตราฐานรับรองจะทำให้เราได้การนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพกลับเข้ามาสู่ในประเทศ เพราะเราต้องการขายของดี ขายของคุณภาพที่อยู่ในเชลฟ์ที่จับต้องได้  

แต่ถ้าผู้ประกอบการรายไหนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง STGs และไม่ได้ดำเนินการด้านความยั่งยืน ททท.อาจจะไม่สนุบสนุนด้านการตลาดและการสร้างการรับรู้ไปสู่นักท่องเที่ยวและผู้ค้าใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ และสามารถที่จะยืนหนึ่งบนโลกแห่งความเป็นจริงคือโลกที่เน้นในเรื่องของความยั่งยืน

ตัวอย่างของการโครงการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน เริ่มต้นจากการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อให้บริการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำร่องภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่และกรุงเทพโดยเสริมความยั่งยืนเข้าไปในมิติต่างๆ และให้ผอ.การท่องเที่ยวทั้ง 5 สาขาเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวยั่งยืนให้เดนมาร์กและสวีเดน ทำให้เราได้พันธมิตรใหม่ที่จะกลายมาเป็นนักท่องเที่ยวใหม่ในอนาคต