เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าททท.คนใหม่ ดันกลยุทธ์การตลาด 360 องศา ปั้มท่องเที่ยว

08 ก.ย. 2566 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 13:15 น.
767

เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าททท.คนใหม่ "ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์" ชู 4 กลยุทธ์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว โฟกัส กลยุทธ์การตลาด 360 องศา

ผู้ว่าททท.คนใหม่ ชู 4 กลยุทธ์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว ผนึกพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมทำตลาดแบบ 360 องศากระตุ้นดีมานด์ยกระดับซัพพลายรองรับการท่องเที่ยว

พร้อมรุกใช้เทคโนโลยีสร้างดิจิทัล เจอร์นีย์ เจาะกลุ่ม Sub-Culture สร้างแฟนด้อมเมืองไทย ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ รับลูกนายกเศรษฐา ดันเป้าหมายสร้างรายได้ 3.3 ล้านล้าน ปี 2567

 

การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 มียุทธศาสตร์ชัดเจนคือ “การยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว”

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตนมีวิสัยทัศน์ในการทำงานที่ชัดเจนโดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนการท่องเที่ยว ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว” ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายของนายกเศรษฐา ทวีสิน ที่ให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นหัวจักรในการนำพาประเทศ 

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์

ดังนั้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะเน้น 4 กลยุทธ์ ที่ททท.ต้องเร่งดำเนินการเชิงรุก (Aggressive Implement) ทำนโยบายเชิงประจักษ์ วัดผลได้ ให้สอดรับกัน

ผู้ว่าททท.คนใหม่ ชู 4 กลยุทธ์ขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์การยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว ได้แก่

  • กลยุทธ์ที่ 1 คือPartnership 360 องศา

เน้นร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรม ผลักดัน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การ “กระตุ้นดีมานต์” ซึ่งตอนนี้มีนโยบายชัดเจนที่จะเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่ 25-28 ล้านคน ขณะนี้เข้ามาแล้ว 18 ล้านคน ช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ต้องทำเพิ่มอีก 10 ล้านคน หรือมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนละ 2.5 ล้านคน หรือ เฉลี่ย 2.1-2.2 ล้านคน ถ้าจะให้ถึงเป้าสูงสุด 28 ล้านคน

ขณะที่ในปี2567 ททท.ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท แต่ล่าสุดนายกเศรษฐา อยากให้ได้ถึง 3.3 ล้านล้านบาท การเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนล้านบาท ก็จะต้องเน้นดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ กลุ่มตลาดที่หลากหลาย การเพิ่มความถี่ในการเดินทาง การลดอุปสรรคการเดินทางเข้าไทย การขยายเที่ยวบินของสายการบิน

เป้าหมายการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปี 2566-2567

ทั้งนี้แผนกระตุ้นเร่งด่วน คือ ททท.จะเน้นทำตลาดเน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ การส่งเสริมการขายทั้งโรดโชว์ เทรดโชว์ในประเทศเป้าหมาย การจัดอีเว้นท์ระดับนานาชาติ เช่น วิจิตรเจ้าพระยา การผลักดัน Soft Power หนุนท่องเที่ยว การดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ 

ทั้งในส่วนการทำตลาดของททท.และกิจการร่วมทุนของททท.อย่างล่าสุดก็เพิ่งมีการรีแบรนด์ไทยแลนด์อีลิท การ์ด เป็นไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด เป็นต้น อีกทั้งถ้ารัฐบาลมีนโยบายวีซ่าฟรี ก็จะน่าจะกระตุ้นนักท่องเที่ยวได้มาก

การร่วมมือกับพันธมิตรทำการตลาดแบบ 360 องศา เช่น การร่วมมือกับกรมการกงสุล กรมการท่องเที่ยวผลักดันเรื่อง VPSS (VISA Pre-Scan System Gateway) เพื่ออำนวยความสะดวกในการลดขั้นตอนการขอ E-VISA เข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีนและประเทศอื่นๆ 

เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าททท.คนใหม่ ดันกลยุทธ์การตลาด 360 องศา ปั้มท่องเที่ยว

การร่วมมือกับทุกสถานทูตไทยในต่างประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว นำจุดขายในโครงการ The Link Local to Global คัดเลือกพื้นที่ท่องเที่ยวในประเทศที่สอดคล้องกับตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้เราต้องสนใจกับภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านไครซิส เพราะยุคนี้เป็นเรื่องสำคัญมากส่งผลดีผลเสียต่อท่องเที่ยวอย่างรุนแรง หากเกิดกระแสด้านลบที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ รวมถึงการขยายเชื่อมต่อคนในกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ นักลงทุน ที่วันนี้มาไทยครั้งแรกเพื่อมาทำธุรกิจ แต่กลุ่มเหล่านี้ก็จะกลายเป็นนักท่องเที่ยวในครั้งต่อไป

4 กลยุทธ์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การยกระดับประเทศด้วยการท่องเที่ยว

รวมไปถึงการให้ความสำคัญ เรื่องการยกระดับ “ซัพพลาย” เพื่อรองรับดีมานต์การท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานการทำงานแบบรวมศูนย์ มุ่งเป้าหมายให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวที่จะต้องนำพาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เราอาจจะต้องฝากให้รัฐบาลทำงานร่วมกันในแบบ 360 องศา ในแง่ของการใช้เครื่องมือทางกฏหมายที่หน่วยงานต่างๆของภาครัฐมี เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลด้านลบต่อการท่องเที่ยว อาทิ การหลอกลวงนักท่องเที่ยว

การสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และธุรกิจบริการในเมืองหลักและเมืองรอง ในแต่ละมิติให้ตอบโจทย์ 365 วันมหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน หรือ Thailand All Year Round การร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ยกระดับมาตรฐานแรงงานในภาคการท่องเที่ยวกว่า 4.4 ล้านคน 

การปรับทัศนคติ (Mindset) คนในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ร่วมกันยกระดับการบริการ เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างรายได้และความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองหลัก เมืองราย การกระตุ้นการท่องเที่ยววันธรรมดา การเพิ่มสินค้าและบริการ การเพิ่มแหล่งท่องเที่ยว และความพร้อมของบุคคลการเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว

  • กลยุทธ์ที่ 2 คือAccelerate Access to Digital World

โดยจะเร่งรัดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ทั้งด้านการตลาดและการพัฒนา ด้วยการใช้ข้อมูลและใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องไร้รอยต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ในการรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มเติมฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ 

ต่อไปจะได้เห็นททท.ทำมาร์เก็ตติ้ง 6.0 หรือ เมตาเวิร์ส มาร์เก็ตติ้ง เรื่องของระบบ AI แซท GPT การทำตลาดแบบ Hyper Personalization (การตลาดที่ตอบโจทย์และเข้าถึงลูกค้าได้แบบเฉพาะเจาะจง)

การสร้าง ดิจิทัล เจอร์นีย์ สำหรับเรียลไทม์ ทราเวลเลอร์ ซึ่งเราต้องบริหารจัดการทั้งองคาพยบของโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งททท.จะทิ้งไม่ได้ เพราะถ้าเราทิ้งไทยจะขึ้นสวรรค์หรือลงนรกได้เลย จากดราม่าที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์

นอกจากนี้ยังจะเร่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยี โดยเข้าไปร่วมมือกับพาร์เนอร์กลุ่มเทคโนโลยีระดับใหญ่ ขับเคลื่อนดีมานต์แบบทั้งประเทศ เหมือนที่เคยทำร่วมกับ กูลเกิ้ล TikTok ยูทูป ที่เราจะทำให้เกิดทราเวล เทค เจอร์นี่

การปรับเปลี่ยน Mindset ของคนในททท.และอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ให้มีดิจิทัล ดีเอ็นเอ อยู่ในตัว ที่ไม่ใช่แค่รู้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนท่องเที่ยวด้วย

  • กลยุทธ์ที่ 3 คือSub-Culture Movement

กลยุทธนี้ก็เพื่อให้ไทยยืนหนึ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลก ซึ่งเราจะสร้างความแตกต่างในการช่วงชิงนักท่องเที่ยว โดยทำการตลาดในระดับดีเอ็นเอ ที่มุ่งเป้าเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพและกลุ่มวัฒนธรรมย่อย

เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าททท.คนใหม่ ดันกลยุทธ์การตลาด 360 องศา ปั้มท่องเที่ยว

โดยคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน ที่จะเป็นกลุ่มคนรักเมืองไทย ให้ได้ทุกอย่าง อยากมาเมืองไทยในทุกช่วงเวลา เพื่อสร้างกลุ่มนี้ให้เป็นไทยแลนด์ แฟนคลับ หรือแฟมด้อมเมืองไทย ที่จะเป็นผู้มีอิทธิพลทางการท่องเที่ยว และเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน

โดยเราจะใช้ฐานข้อมูลเชิงลึก จากสมาร์ททัวริสซึมดาต้า กับโซเชี่ยลมีเดีย ในการเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ โดยเราจะใช้พื้นฐานของ Soft Power ไทย ให้กลายเป็นแกนหลักสำคัญในการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวและการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้อินเซ็นทีพ สำหรับคนที่ขายเมืองไทย

  • กลยุทธ์ที่ 4 คือSustainably NOW

เราจะทำให้ทุกคนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมตระหนักถึงเป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งได้วางกลยุทธ์ในการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เป็นยุทธศาสตร์โลกที่ต้องทำร่วมกัน ภายในปี 2030 

เปิดวิสัยทัศน์ผู้ว่าททท.คนใหม่ ดันกลยุทธ์การตลาด 360 องศา ปั้มท่องเที่ยว

ททท. จะผลักดันโครงการ TAT Star (Sustainable Tourism Acceleration Rating) ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในปี2568 ในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับสตาร์ไม่ตํ่ากว่า 80%

รวมถึงการสร้างตลาดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม การสร้างความร่วมมือด้าน TAT Net Zero กับกลุ่มพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรม ที่เรามีแพลตฟอร์ม ที่จะให้การจัดกิจกรรมต่างๆของททท.ร่วมกับพันธมิตรต้องมีกระบวนการเรื่องการลดคาร์บอนไดอ็อกไซต์ ที่วัดผลได้ เป็นต้น