พาณิชย์ หนุน SME ลุยผลิตสินค้ารักษ์โลก รักษาตลาดส่งออกระยะยาว

05 ก.ย. 2566 | 13:29 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 17:43 น.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หนุนส่งออกไทยรับมือคู่ค้าคุมเข้ม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุตลาดหลักทั้งอียู สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน จากนี้จะมีมาตรการนำเข้าที่เข้มงวดถึงเข้มงวดที่สุด ดัน SMEไทยลุยผลิตสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รักษาตลาดระยะยาว

นายพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา  ROAD TO NET ZERO โอกาส & ความท้าทายทางธุรกิจ หัวข้อ "ยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Climate Change" จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ และเครือเนชั่น ว่า การค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกในบริบทของ Global Warming (ภาวะโลกร้อน) และ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่ประเทศไทยจะต้องรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น รวมทั้งโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก BCG Economy Model จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญ

พาณิชย์ หนุน SME ลุยผลิตสินค้ารักษ์โลก รักษาตลาดส่งออกระยะยาว

ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักของสินค้าไทย สัดส่วนเกือบ 60% ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวันซึ่งเป็นท็อปเท็นของตลาดส่งออกสินค้าไทย ได้มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดถึงเข้มงวดที่สุด รวมถึงทั่วโลกก็มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และจะมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในเร็ววัน ทั้งนี้เพื่อส่งผ่าน Sustainability หรือความยั่งยืน ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมสู่ประชาชนของตน

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความท้าทายและมีนัยสำคัญต่อการส่งออกของไทย และมีนัยสำคัญต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยหากมีการปรับตัวในการผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

ทั้งนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการส่งออก โดยยึดหลัก  3P 1S ที่สำคัญคือ People โดยพัฒนาคนหรือผู้ประกอบการให้เข้าใจถึงความต้องการของตลาด การพัฒนา Product คือสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด Place หรือสถานที่ในการที่จะให้ผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาพบกับผู้ส่งออกของไทย และ Service คือ การบริการที่ดีต่อประชาชน และผู้ประกอบการในการที่จะได้รับข้อมูลที่ดีที่สุดเพื่อให้ตัดสินใจทางด้านธุรกิจได้ดีที่สุด

“ประเทศไทยถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นโอกาส เราเห็นตัวอย่างที่ดี ๆ มากมาย และได้เห็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยและสังคมไทยโดยรวมมากมาย เราเปลี่ยนโลกได้ถ้าเรามองโลกเป็นโอกาส ไม่ว่ามาตรการของประเทศคู่ค้าจะออกมาในรูปแบบของมาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็น CBAM หรือเป็นมาตรการที่สมัครใจก็ตาม ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองของเราได้ นี่คือโอกาส ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีข้อได้เปรียบหลาย ๆ อย่าง”

โดยประเทศไทยมีนักออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์มากมาย มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ สินค้าไทยยังได้รับความนิยม และไทยเป็นผู้นำในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์

พาณิชย์ หนุน SME ลุยผลิตสินค้ารักษ์โลก รักษาตลาดส่งออกระยะยาว

นายพรวิช กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เห็นถึงโอกาสดังกล่าว ที่มาควบคู่กับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเทรนด์เรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืนที่เป็นเชิงบังคับของกระแสโลก ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ปรับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจโดยใช้ BCG Economy Model มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสที่ในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ  และขยายตลาดส่งออกไปในตลาดสำคัญ ๆ ที่เป็นตลาดหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอื่น ๆ ที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมหาศาล

โดยทางกรมฯได้ริเริ่มโครงการ BCG HEROES1 เมื่อปี 2564 สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่ได้มีเงิน หรือมีการลงทุนการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) มาก เพียงแต่แค่ปรับความเข้าใจถึงความต้องการสินค้าของโลก เข้าใจจุดแข็งธุรกิจ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ที่สามารถเติมเต็มผู้ประกอบการได้

“เดิมผู้ประกอบการเหล่านี้เขาผลิตสินค้าอยู่แล้ว เช่น บางรายอาจจะเป็นโรงเหล็กซึ่งมีเศษเหล็กกองพูนเป็นขยะอยู่ทุกวันไม่รู้จะทำอะไร การมาปรับ mindset (ความคิด) ว่า “ขยะคือทอง” นี่คือมายด์เซ็ทที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เปรียบ เรามีทั้งเศษเหล็ก มีทั้งแกลบ มีทั้งเศษเปลือกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าเกษตรเอามาทำเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่มีทั้งดีไซน์ มีทั้งความคิดในเชิงรักษ์โลกและที่สำคัญคือ ขายได้จริง และขายได้ราคาที่ควรจะเป็น”

แบรนด์สินค้าเหล่านี้เป็นเอสเอ็มอีไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่เป็นผู้นำทางด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ไปสู่ตลาดโลก ได้รับรางวัลระดับประเทศและระดับโลกมาแล้วมากมาย ซึ่งทางกรมฯ ภูมิใจและจะผลักดันผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านนี้ต่อ ๆ ไป รวมทั้งในช่วงต่อไปจะผลักไปอีกระดับหนึ่งเพื่อให้สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ( carbon neutrality)เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ มีความตระหนักถึงการต้องยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่าแต่ละบริษัทปล่อยคาร์บอนไปเท่าไรในการผลิตของเขา รวมถึงรับมือกับภาษีคาร์บอนของประเทศคู่ค้าที่จะมีความเข้มงวดขึ้น และครอบคลุมกับสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นนอกเหนือจากสินค้าอุตสาหกรรม

โดยสรุปทางกรมฯจะเน้นใน 3 เรื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้แก่ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เรื่อง BCG และเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงสินค้าอาหารอนาคต(Future Food) ที่เป็นเนื้อเทียม มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าเนื้อสัตว์ ถือเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่กำลังมาแรง ซึ่งจะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ใช้โอกาสนี้ในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ใช้หลักการ BCG economy model ทำให้การส่งออกของไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นและมีความยั่งยืน และที่สำคัญที่สุดคือ จะช่วยส่งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดีสู่รุ่นลูกหลานต่อไป