5 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับอาหารทะเลและน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่น

28 ส.ค. 2566 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2566 | 06:13 น.
2.3 k

ธุรกิจประมงและส่งออกอาหารทะเลของญี่ปุ่นกำลังเผชิญกระแสต่อต้านจากจีนและฮ่องกงซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด เป็นการตอบโต้การที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีมติให้ปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล ประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  

   

การปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ผ่านการบำบัดแล้วจาก โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ ประเทศญี่ปุ่น ลงสู่ มหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นมาตรการที่ญี่ปุ่นบอกกล่าวต่อประชาคมโลกมาเป็นระยะๆ เนื่องจากตระหนักดีถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศรอบข้าง แต่ก็ยังเกิดการประท้วงต่อต้านการตัดสินใจของญี่ปุ่นในครั้งนี้ในประเทศจีนและเกาหลีใต้ โดยรัฐบาลจีนถึงกับสั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมดจากประเทศญี่ปุ่นอย่างไร้กำหนดเวลา

1) การตอบโต้รุนแรงที่สุดมาจากจีน...ผู้นำเข้ารายใหญ่สุด

ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เกิดอุบัติภัยมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิชิ เมื่อปี 2554 (ค.ศ.2011) ซึ่งเป็นปีที่เกิดสึนามิและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงงาน นับตั้งแต่นั้นมา จีนก็มีมาตรการระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเกือบจะทุกรายการจากฟุกุชิมะรวมทั้งจังหวัดรอบข้างอยู่แล้ว แต่หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนที่บำบัดแล้วจากโรงงานแห่งนี้ลงสู่มหาสมุทรเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2566 เนื่องจากปริมาณน้ำมีมากเกินขีดความสามารถของโรงงานที่จะกักเก็บไว้ ทางการจีนก็ระงับการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่นในทันที

ซึ่งเรื่องนี้ นายเท็ตสุโระ โนมูระ รัฐมนตรีกระทรวงประมงของญี่ปุ่น ออกมาให้ความเห็นว่า ปฏิกิริยาของจีนนั้นเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง และเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับกระแสโลกที่พยายามลดเงื่อนไขและยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าอาหารจากญี่ปุ่น

การประท้วงในกรุงโซล รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้แบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น แต่ก็ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนการที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล

2) คาดผลกระทบไล่ไปตั้งแต่ธุรกิจประมง-ส่งออก ยันท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเล ดังนั้นจึงเป็นประเทศชั้นนำประเทศหนึ่งทางด้านการประมงและมีทรัพยากรทางประมงที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในช่วงทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่จับสัตว์น้ำได้มากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบัน เนื่องจากตลาดภายในประเทศหดตัวลงจากหลากหลายปัจจัยซึ่งรวมทั้งประชากรมีจำนวนลดลง และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานการประมงแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan's Fisheries Agency) พบว่า ในปี 2565 ญี่ปุ่นส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมูลค่าทั้งสิ้น 387,000 ล้านเยน หรือราว 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 91.39 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดซีฟู้ดของเอเชีย จีนเป็นตลาดหลักที่นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมากที่สุด หรือคิดเป็น 22.5% ของยอดส่งออกทั้งหมด (คิดเป็นมูลค่าเกือบๆ 72,000 ล้านเยน หรือราว 496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีสินค้าหลักๆ คือปลาทูน่า ปลาโบนิโต และหอยเชลล์

นอกจากจีนแล้ว ประเทศและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่น (ข้อมูล ณ ปี 2565) ยังได้แก่ ฮ่องกง (19.5%) สหรัฐอเมริกา (13.9%) ไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย และเวียดนาม

หลังจากที่จีนประกาศแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเมื่อวันพฤหัสฯ (24 ส.ค.) ฮ่องกงก็ดำเนินการตามมาในวันเดียวกัน โดยประกาศห้ามนำเข้าอาหารทะเลจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่น รวมทั้งจังหวัดมิยากิ ที่อยู่ใกล้ๆกับจังหวัดฟุกุชิมะด้วย

สำนักข่าวนิคเคอิ เอเชีย สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกซีฟู้ดของญี่ปุ่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นายทากะยุกิ ฮอมมะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทวิจัย Sumitomo Corporation Global Research กล่าวกับนิคเคอิ เอเชียว่า ผู้ประกอบการบางรายจะต้องสูญเสียตลาดที่เคยมีขณะที่ปริมาณสินค้าที่จะส่งออกมีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ถ้าจีนยังคงมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับอาหารทะเลของญี่ปุ่นต่อไป กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มากันเป็นกรุ๊ปทัวร์และเพิ่งได้รับอนุญาตให้กลับมาท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น ก็อาจหันเหไปเที่ยวที่อื่นแทน หรือหลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลระหว่างที่มาท่องเที่ยวในญี่ปุ่น “น่าวิตกว่าเรื่องนี้อาจทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวจากต่างประเทศ(สู่ญี่ปุ่น) อาจชะลอตัวลงไปด้วย”

3) ประเมินความเสียหายเบื้องต้นต่อการส่งออก

จากข้อมูลของบริษัทวิจัย Teikoku Databank ในญี่ปุ่น ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (25 ส.ค.) พบว่า จะมีบริษัทส่งออกอาหารของญี่ปุ่นราว 700 รายทั้งรายใหญ่และรายย่อยในซัพพลายเชน ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการระงับการนำเข้าอาหารทะเลของจีนในครั้งนี้ เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าส่งออกประเภทนี้ของญี่ปุ่น และด้วยเหตุนี้ รายงานการวิจัยจึงเสนอแนะให้หน่วยงานของญี่ปุ่นเร่งขยายตลาดในประเทศและแสวงหาตลาดส่งออกใหม่มาทดแทน(จีนและฮ่องกง) เป็นการเร่งด่วน

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีเป้าหมายขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเล (ในแง่มูลค่า) เป็น 1.2 ล้านล้านเยนภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ดังนั้น ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าจีนจะระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นไปอีกนานเท่าไหร่เพราะทางจีนไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ นั่นหมายความว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องเพิ่มการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เป็นการกระจายความเสี่ยงออกไป ซึ่งการหาตลาดใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทากะยุกิ ฮอมมะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทวิจัยซูมิโตโมฯ ให้ความเห็นว่า ถ้าจะคาดหวังให้สหรัฐและยุโรป เข้ามาเป็นตลาดสำหรับซีฟู้ดญี่ปุ่นทดแทนจีนและฮ่องกง นั่นก็ใกล้เคียงกับคำว่า “เริ่มจากศูนย์” เลยทีเดียว

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ตั้งอยู่ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ ประเทศญี่ปุ่น

4) ข้อมูลและการยืนยันความปลอดภัยจากญี่ปุ่น

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลนั้น การตัดสินใจดังกล่าวตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า

  • น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว มีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่าเกณฑ์กำกับดูแล (Regulatory Standards) สำหรับการปล่อยทิ้งของญี่ปุ่น และต่ำกว่าเกณฑ์แนะนำ (Guideline Level) ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับน้ำดื่ม
  • นอกจากนี้ ยังได้รับการตรวจสอบและได้รับความเห็นชอบจาก ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ให้สามารถปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลได้
  • รัฐบาลญี่ปุ่นย้ำว่า กัมมันตรังสีในทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะยัง “ต่ำกว่าขีดจำกัด”

ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 ส.ค.) กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ไม่พบสารกัมมันตรังสีในการทดสอบน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หลังจากที่เริ่มมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดี (24 ส.ค.) โดยน้ำปนเปื้อนดังกล่าว เป็นน้ำที่ทางโรงงานใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นระบุว่า การทดสอบตัวอย่างจากพื้นที่ 11 จุดใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้ข้อสรุปว่า ความเข้มข้นของทริเทียม ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี นั้นต่ำกว่าขีดจำกัด 7 - 8 เบคเคอเรลต่อลิตร ดังนั้น น้ำทะเลจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นจะเผยแพร่ผลการทดสอบกัมมันตรังสีรายสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน จากนั้น จะพิจารณากรอบเวลาในการเปิดเผยการทดสอบกัมมันตรังสีอีกครั้งในภายหลัง

ด้านกรมประมงญี่ปุ่นระบุเมื่อวันเสาร์ (26 ส.ค.) ว่า ไม่พบทริเทียมในการทดสอบปลาในน้ำรอบ ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

ก่อนหน้านั้น บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค หรือ TEPCO ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ออกมาให้ข้อมูลยืนยันเมื่อวันศุกร์ (25 ส.ค.)ว่า น้ำใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะนั้นปนเปื้อนทริเทียมต่ำกว่า 10 เบคเคอเรลต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าขีดจำกัดที่ทางบริษัทกำหนดไว้ที่ 700 เบคเคอเรลต่อลิตร และที่สำคัญคือยังต่ำกว่าขีดจำกัดสำหรับน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่ 10,000 เบคเคอเรลต่อลิตร จึงยืนยันถึงความปลอดภัยของน้ำบำบัดแล้วที่ปล่อยจากโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้

ต่อคำถามที่ว่า น้ำบำบัดที่ว่านี้มีปริมาณเท่าไหร่และจะปล่อยลงทะเลอีกนานแค่ไหน  

จากข้อมูลของ TEPCO ระบุว่า การปล่อยน้ำบำบัดจากโรงงานลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนั้น อาจกินเวลายาวนานราว 30 ปีเป็นอย่างน้อย คาดว่าในปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.2567 ทางโรงงานจะปล่อยน้ำปนเปื้อนที่ได้รับการบำบัดแล้วจำนวนทั้งสิ้น 31,200 ลูกบาศก์เมตร หรือราว 2.3% ของปริมาณน้ำรอการบำบัดทั้งหมด 1.34 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กักเก็บไว้ในถังเก็บน้ำมากกว่า 1,000 ถังในโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ (กล่าวกันว่า นั่นเทียบเท่าปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำมาตรฐานแข่งขันกีฬาโอลิมปิคจำนวนกว่า 500 สระเลยทีเดียว)

ทั้งนี้ ในขณะที่มีการนำน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีมาบำบัดและทยอยปล่อยลงทะเล แต่ทุกๆวัน โรงงานแห่งนี้ก็ยังคงผลิตน้ำปนเปื้อนใหม่ๆออกมา

เมื่อขึ้นปีงบประมาณใหม่ในเดือนมี.ค.ปีหน้า (2567) บริษัทจะประกาศแผนปล่อยน้ำบำบัดในเฟสต่อไป

ถามว่าน้ำปนเปื้อนจำนวนมหาศาลเหล่านี้มาจากไหน คำตอบคือมันเป็นน้ำที่ถูกนำมาใช้หล่อเย็นเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554 น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลถูกกักเก็บไว้ภายในโรงงานกระทั่งใกล้เกินขีดจะรับไหว (98%) รัฐบาลญี่ปุ่นมีมติจะปล่อยน้ำปนเปื้อนที่บำบัดแล้วจากโรงงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งหลังจากนั้นก็มีกระบวนการคือ ติดต่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มาตรวจสอบและประเมินความปลอดภัย กระทั่งเดือนก.ค.2566 IAEA ก็ไฟเขียวรายงานขั้นสุดท้ายของโรงงานที่ระบุว่า น้ำบำบัดที่จะปล่อยออกจากโรงงานนั้น จะมีผลทางกัมมันตรังสีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม “น้อยมาก”

5) ความเคลื่อนไหว และมาตรการเชิงป้องกันของไทย

นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (26 ส.ค.) ว่า ในฐานะที่กรมประมง มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการตรวจสอบการนำเข้าปลาและกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ณ ด่านศุลกากร ตั้งแต่ปี 2559 จากการถ่ายโอนภารกิจในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูปจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522

การแถลงข่าวของ อย.เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 ส.ค. 2566)

กรมประมงได้เพิ่มความเข้มงวด โดยยกระดับการตรวจติดตามเฝ้าระวังสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากแผนปฏิบัติงานประจำปี มุ่งเน้นการสุ่มตัวอย่างอาหารทะเลที่นำเข้าจากเมืองที่มีความเสี่ยง ซึ่งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ เช่น โตเกียว ฟุกุชิมะ ชิบะ กุมมะ โทจิงิ อิบารากิ มิยางิ นีงะตะ นากาโนะ ไซตามะ เป็นต้น โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำเข้าอย่างเข้มงวดเพื่อมิให้มีการนำเข้าอาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับที่ไม่ปลอดภัย

 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจนถึงปัจจุบัน พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสี “ไม่เกินมาตรฐาน” ตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่นที่ตรวจสอบตัวอย่างอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะจำนวน 4,375 ตัวอย่างในปี 2565 จนถึงเดือน เม.ย.2566 ยังไม่พบค่าการปนเปื้อนกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งหากพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนดก็จะสั่งเรียกคืนหรือระงับการนำเข้าทันที

“กรมประมงตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยมีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่นำเข้ามาในประเทศนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง” รองอธิบดีกรมประมงกล่าว และว่าหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารใด สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมประมง 0-2579-1878 หรือ 0-2579-3614-5 ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต หรือสายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด

ด้านนายเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย.ได้ดำเนินการร่วมกับกรมประมง และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เพื่อกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น และให้ความมั่นใจว่า การนำเข้าอาหารทะเลนั้น เจ้าหน้าที่ด่านประมงของกรมประมง และด่านอาหารและยาของ อย. มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดร่วมกับ สทน. เพื่อไม่ให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานที่กำหนดอย่างแน่นอน 

ข้อมูลอ้างอิง