ประเทศไหนบ้าง ที่ยังจำกัดการนำเข้าอาหาร-อาหารทะเลจาก “ฟุกุชิมะ”

07 ก.ค. 2566 | 00:52 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 06:45 น.
584

หลังจากที่หน่วยงานของสหประชาชาติ ไฟเขียวเมื่อต้นสัปดาห์ ให้ญี่ปุ่นสามารถปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกิชิมะลงสู่มหาสมุทร หลายประเทศได้ออกมาคัดค้าน และยังคงมาตรการจำกัดการนำเข้าอาหาร-สินค้าประมงจากญี่ปุ่น เพราะหวั่นปนเปื้อนกัมมันตรังสี  

จากกรณีที่ สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency) อนุมัติให้ ญี่ปุ่น สามารถปล่อยน้ำเสียที่ถูกบำบัดแล้วจาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ใน จังหวัดฟุกุชิมะ ที่เคยเกิดเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลเมื่อปี2554 ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้ ซึ่งคาดว่าเร็วที่สุดจะเป็นในเดือนสิงหาคมนี้

ท่าทีดังกล่าวทำให้หลายประเทศ ที่ร่วมใช้น่านน้ำเดียวกันไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แสดงความผิดหวัง โดยระบุว่าไอเออีเอ “รีบร้อน” เผยแพร่รายงานการอนุมัติเร็วเกินไป และญี่ปุ่นจะต้องรับผิดชอบผลกระทบทั้งหมดหากมีการปล่อยน้ำเสียดังกล่าวแม้จะบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรจริงๆ

ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้มีแนวโน้มว่า จีนอาจไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารจากฟุกุชิมะและจังหวัดใกล้เคียง

คาดว่าบางประเทศจะยังคงห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารและสินค้าประมงจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ มีกว่า 40 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ที่ได้ยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่นไปแล้วก่อนหน้านี้ หลังจากที่เคยใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อครั้งเกิดเหตุเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฟุกุชิมะได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 ใหม่ๆ ซึ่งช่วงนั้นมีความหวาดวิตกเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีจากโรงงานไฟฟ้าฯ สู่อาหารทะเลและพืชผลการเกษตรของจังหวัดฟุกุชิมะและพื้นที่ใกล้เคียง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป หลายประเทศรวมทั้งไทย ก็ทยอยยกเลิกมาตรการห้ามหรือจำกัดการนำเข้าสินค้าจากพื้นที่เสี่ยงกัมมันตรังสีของญี่ปุ่น  

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รวบรวมรายชื่อประเทศและเขตเศรษฐกิจ ที่ยังคงสั่งห้ามหรือจำกัดการนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงการเกษตรญี่ปุ่น ดังนี้

จีน

จีนสั่งห้ามนำเข้าอาหารและอาหารสัตว์จากฟุกุชิมะและจังหวัดโดยรอบ 8 จังหวัด (รวมเป็น 9 จังหวัด) ขณะที่ฮ่องกงระงับการนำเข้าผัก ผลไม้ นม และผลิตภัณฑ์นมจากจังหวัดฟุกุชิมะ

ส่วนผลิตภัณฑ์ประมงและอาหารทะเลนั้น จีนห้ามนำเข้าจาก 10 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงจากฟุกุชิมะและโตเกียว เมืองหลวง ขณะที่จังหวัดอื่นๆของญี่ปุ่นสามารถส่งออกอาหารทะเลไปยังจีนได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบว่าไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเสียก่อน

ถึงแม้จีนจะมีคำสั่งห้ามนำเข้าดังกล่าว แต่มูลค่าการส่งออกอาหาร ผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ของญี่ปุ่น(โดยรวม)ไปยังจีน เพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 493,000 ล้านเยน หรือราว 119,000 ล้านบาท และในปี 2565 จีนยังเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอีกด้วย 

สหภาพยุโรป(อียู)

สหภาพยุโรป หรือ อียู ไม่ได้ห้ามนำเข้าอาหารจากญี่ปุ่น แต่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์บางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์ทางทะเลบางชนิดจากจังหวัดฟุกุชิมะ ต้องมีใบรับรองการทดสอบกัมมันตรังสีจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อียูกำลังเตรียมยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวนี้

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ทางทะเล ปศุสัตว์ และป่าไม้ ไปยังอียูให้ถึง 5 ล้านล้านเยน หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ซึ่งเพิ่มจากยอดส่งออกที่ 1.4 ล้านล้านเยน หรือราว 340,000 ล้านบาท ในปี 2022

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะและจังหวัดอื่น ๆ อีก 7 จังหวัดของญี่ปุ่น และยังระงับการนำเข้าข้าว ถั่วเหลือง ผักบางชนิด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากฟุกุชิมะ รวมทั้งสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์บางประเภทจากพื้นที่อื่นในญี่ปุ่นอีก 14 แห่งด้วย

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 มิ.ย.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้กล่าวว่า เกาหลีใต้จะไม่ยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าข้างต้น จนกว่าจะมีการดำเนินการเพื่อผ่อนคลายความกังวลของประชาชนต่อประเด็นสารปนเปื้อนกัมมันตรังสี

ไต้หวัน

ไต้หวันสั่งห้ามนำเข้าสินค้าบางอย่าง เช่น เห็ด เนื้อสัตว์ป่า จากจังหวัดฟุกุชิมะและอีก 4 จังหวัด โดยไต้หวันเป็นผู้นำเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตร การป่าไม้ และการประมง จากญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นอันดับสาม รองจากจีนและสหรัฐอเมริกา

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ตั้งอยู่ในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น

ไทยเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ยอมรับอาหารทะเลนำเข้าจากฟุกิชิมะ

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2561 นับเป็นประเทศแรกในโลก ที่ผ่อนคลายคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะ ที่เคยประกาศใช้หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะในปี 2554

วันที่ 1 มีนาคม 2561 ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ เมื่อปลาสดๆ น้ำหนักกว่า 110 กก. ถูกส่งตรงจากท่าเรือเมืองโซมะ มายังประเทศไทย เพื่อใช้ทำเป็นอาหารในภัตตาคารญี่ปุ่น 12 ร้านในกรุงเทพ เรื่องนี้สร้างความปลาบปลื้มให้กับอุตสาหกรรมประมงของญี่ปุ่นที่สามารถส่งออกอาหารทะเลจากจังหวัดฟุกุชิมะไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก หลังเหตุการณ์กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลเมื่อเดือนมีนาคมปี 2554

ในครั้งนั้น หัวหน้าสหกรณ์ประมงเมืองโซมะ ระบุว่า ปลาที่ส่งออกมายังประเทศไทยได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสี โดยท่าเรือโซมะอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมากกว่า 50 กิโลเมตร

โลกจารึกไว้ในช่วงเวลานั้นว่า หลังเกิดเหตุรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ การทำประมงในพื้นที่ถูกระงับลงอย่างสิ้นเชิง อาหารทะเลจากพื้นที่ฟุกุชิมะถูกสั่งห้ามนำเข้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก ชาวประมงในพื้นที่เพิ่งจะทดลองกลับมาทำการประมงอีกครั้งเมื่อปี 2012 (พ.ศ.2555) โดยมีระยะห่างจากพื้นที่ประสบภัยอย่างน้อย 20 กิโลเมตร และตั้งแต่ปี 2015 (2558) เป็นต้นมา อาหารทะเลในพื้นที่ก็ไม่ถูกตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนกัมมันตรังสีอีก ทำให้หลายประเทศทยอยเลิกหรือลดข้อจำกัดการนำเข้าอาหารและสินค้าประมงจากจังหวัดฟุกุชิมะและพื้นที่ใกล้เคียง

เครดิตภาพ สำนักข่าวเกียวโด

ข้อมูลอ้างอิง