zero-carbon
815

แม่ฟ้าหลวง รวม 126 ป่าชุมชนขาย "คาร์บอนเครดิต" เงินถึงมือ 630 ล้าน

    มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รวม 126 ป่าชุมชน ใน 9 จังหวัด รวม 194,850 ไร่ ป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ช่วย 25,082 ครัวเรือน มีรายได้ขาย "คาร์บอนเครดิต" กว่า 630 ล้าน พร้อมดึงเอกชนร่วมมือ

“คาร์บอนเครดิต” กลายเป็นเมกะเทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงการมีส่วนร่วมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละองค์กรปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ

โดยมีป่าไม้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่สำคัญ มีคุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งต้นน้ำ รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ คงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และผลพลอยได้จาก “คาร์บอนเครดิต” ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ชาวบ้าน และชุมชนได้อีกด้วย

ที่ผ่านมา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือ T-VER ภาคป่าไม้ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. 

โดยคาร์บอนเครดิต ถือเป็นกลไกที่จะกระตุ้นให้ชุมชนดูแลป่าและดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการสูญเสียพื้นที่ป่า ลดอัตราการเกิดไฟป่าและลดปัญหาฝุ่นควัน pm 2.5 ซึ่งเมื่อชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีก็จะบรรเทาปัญหาการว่างงาน หนี้ครัวเรือน ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยภาคเอกชนในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจได้ด้วย

 

ภาพประกอบข่าว "คาร์บอนเครดิต"

จัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า 

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สืบสานพระราชปณิธาน “ปลูกป่า ปลูกคน” มาเกือบ 40 ปี ในการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย จึงนำประสบการณ์มาขยายผลเพื่อร่วมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนในป่า พร้อมกับร่วมแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมของไทยและของโลกไปในคราวเดียวกัน

โดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้รับความสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน และชุมชนในการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่ามาตั้งแต่ปี 2563 โดยงบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชนนำไปใช้ในการพัฒนาระบบประเมินคาร์บอนเครดิต และจัดตั้งกองทุน 2 ประเภท คือ 

  1. กองทุนดูแลป่า 
  2. กองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นรายได้แก่ชุมชน 

 

ภาพประกอบข่าว "คาร์บอนเครดิต"

ดึง 129 ป่าชุมชนขายคาร์บอนเครดิต

จากการดำเนินงานช่วงพัฒนาระบบ (2563-2565) มีพื้นที่ปฏิบัติการใน 52 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 51,354 ไร่ ใน 7 จังหวัด และมีชุมชนเข้าร่วม 12,361 ครัวเรือน จนปัจจุบันเกิดความชำนาญจนนำมาสู่การขยายพื้นที่อย่างจริงจัง

สำหรับงานของปี 2566 นี้ โครงการฯ ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนใน 77 ป่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 143,496 ไร่ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร โดยจะเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 100,000 ไร่ มีผู้เข้าร่วม 12,721 ครัวเรือน โดยมีภาคเอกชนชั้นนำมาร่วมสนับสนุนการพัฒนา 14 ราย

การขยายงานในครั้งนี้เมื่อรวมกับระยะพัฒนาระบบ ทำให้โครงการฯ มีความร่วมมือในป่าชุมชนรวม 129 แห่งใน 9 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่ 194,850 ไร่ ป้อนคาร์บอนได้ 500,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า 25,082 ครัวเรือน การดำเนินงานในแต่ละป่าชุมชนครอบคลุมระยะเวลาสิบปี และคาดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ทางตรงด้านรายได้ชุมชนรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 500-630 ล้านบาท

“โครงการนี้นับเป็นนวัตกรรมที่มูลนิธิฯ และภาคีมีความภาคภูมิใจ เพราะเราสามารถสร้างประโยชน์ได้ทุกมิติ ชุมชนที่ดูแลป่ามีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยผลิตคาร์บอนเครดิตมาช่วยให้ประเทศไทยบรรลุข้อตกลงลดโลกร้อน และมีป่าสมบูรณ์ขึ้น เฉพาะในช่วงฤดูไฟป่าที่ผ่านมา เราพบว่าพื้นที่โครงการมีไฟป่าลดลงประมาณ 6,500 ไร่ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 191 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากชุมชนในโครงการให้การดูแลป่าอย่างจริงจัง”

ส่วนในปี 2567 มีเป้าหมายจะขยายงานครอบคลุมพื้นที่อีก 150,000 ไร่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายผลิตคาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันภายในปี 2570

 

ภาพประกอบข่าว "คาร์บอนเครดิต"

 

ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ

สำหรับการทำโครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ขึ้นทะเบียนกับ อบก.นั้น การดำเนินงานในช่วง 3 ปีแรก คือตั้งแต่ปี 2563 โครงการได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนชั้นนำหลายบริษัท และมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยบทบาทของภาคเอกชนได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ 2 ส่วน คือ 

  • สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน 
  • เตรียมความพร้อมของชุมชนเพื่อขึ้นทะเบียน T-VER ที่ได้รับการรับรองโดย อบก. 

ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในอนาคต โดยทั้ง 2 ส่วนสามารถดำเนินการผ่านกลไกและกฎหมายที่มีอยู่แล้วได้ทันที พร้อมกันนี้ภาคเอกชนยังเข้ามาสนับสนุนความเชี่ยวชาญด้านการตลาด การพัฒนาสินค้า รวมถึงการอบรมพัฒนาศักยภาพชุมชนด้วย

โดยปัจจุบัน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ขยายพื้นที่พัฒนาเพิ่มขึ้นครอบคลุม 143,496 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตประมาณ 100,000 ไร่ ร่วมกับป่าชุมชน 77 แห่งในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ และยโสธร มีภาคประชาชนเข้าร่วม 39,092 คน โดยมีภาคธุรกิจ 14 แห่งเข้ามาร่วมมือด้วย

 

ภาพประกอบข่าว "คาร์บอนเครดิต"

 

สำหรับหน้าที่ของ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นั้นจะเป็นที่ปรึกษาให้ชุมชนในการจัดทำโครงการ T-VER เพื่อใช้ในการตรวจวัดประเมินคาร์บอนเครดิตในอนาคต และร่วมพัฒนาบุคลากรของชุมชนในการดูแลรักษาป่า เพิ่มศักยภาพชุมชนในการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน 

เช่นเดียวกับการประสานงานกับภาคีต่างๆ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ อบก. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และภาคเอกชนที่สนับสนุนโครงการ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนี้ยังติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ตามตัวชี้วัดหลักของโครงการ ได้แก่ พื้นที่ป่าชุมชนที่เสียหายจากไฟป่า ปริมาณคาร์บอนเครดิต และการรวมกลุ่มสร้างอาชีพของชุมชน พร้อมกับจัดทำรายงานสรุปผลโครงการอีกด้วย