zero-carbon
738

บอร์ด อบก. รับรอง “คาร์บอนเครดิต” สู่ตลาดซื้อขายในประเทศเพิ่ม

    บอร์ดองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER 13 โครงการ พร้อมรับรองคาร์บอนเครดิตเข้าสู่ตลาดซื้อขายภายในประเทศ รวมกว่า 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

การแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกของไทย กำลังมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการผลักดัน โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ

พร้อมทั้งสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต ซึ่งภายใต้โครงการ T-VER นี้เรียกว่า “TVER” ไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ภาคสมัครใจในประเทศได้ โดย อบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการลด และ ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย

ล่าสุด คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ได้พิจารณาขึ้นทะเบียนโครงการและรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) 13 โครงการ โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ รวมทั้งสิ้น 883,376 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)

 

ผลประชุมคณะกรรมกการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

13 โครงการลดก๊าซเรือนกระจก

สำหรับ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) จำนวน 13 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5: โรงไฟฟ้าชีวมวล 6.3 เมกะวัตต์ โดย บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
  2. โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล โดย บริษัท แม่กระทิง เพาเวอร์ จำกัด
  3. โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลพลังงานร่วม ขนาด 9.9 MW โดย บริษัท ท่าฉาง ไบโอเพาเวอร์ จำกัด
  4. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 575.38 กิโลวัตต์ โดย บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ กรุงเทพ
  5. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่ลำปาง ประเทศไทย โดย บริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด
  6. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่นครสวรรค์ ประเทศไทย โดย บริษัท อีเอ โซ่ล่า นครสวรรค์ จำกัด
  7. โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่พิษณุโลก ประเทศไทย โดย บริษัท อีเอ โซ่ล่า พิษณุโลก จำกัด
  8. โครงการผลิตไฟฟ้าจากลม หาดกังหัน 126 เมกะวัตต์ โดย บริษัท อีเอ วินด์ หาดกังหัน 3 จำกัด
  9. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 1 โดย บริษัท นายางกลัก พัฒนา จำกัด
  10. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 5 โดย บริษัท โป่งนก พัฒนา จำกัด
  11. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 8 โดย บริษัท นายางกลัก พลังลม จำกัด
  12. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 9 โดย บริษัท เบญจ-รัตน์ พัฒนา จำกัด
  13. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังลม หนุมาน 10 โดย บริษัท บ้านชวน พัฒนา จำกัด

 

ภาพประกอบข่าว การแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกของไทย

คาร์บอนเครดิตเข้าสู่ตลาด 15 ล้านตัน

ทั้งนี้ประเมินว่า ในภาพรวมโครงการ T-VER มีการรับรองคาร์บอนเครดิตที่เข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศรวมทั้งสิ้นมากกว่า 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น เพิ่มพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพให้ชุมชน ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มรายได้แก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าของเสียหรือของเหลือทิ้งทางการเกษตรและครัวเรือน เป็นต้น

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ ยังขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานของ อบก. โดยเฉพาะการสร้างผลสัมฤทธิ์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการทำงานของ อบก. ทั้งด้าน กฎหมายและนโยบาย นวัตกรรมและเทคโนโลยี งบประมาณ และการมีส่วนร่วม เพื่อก้าวสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้บรรลุเป้าหมายเป็นผลสำเร็จได้