ภาคขนส่งตื่นตัว ดัน “คาร์บอนเครดิต” ปลุกนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว

30 พ.ค. 2566 | 16:07 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 17:22 น.

ผู้ประกอบการขนส่ง เดินหน้าซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต รุกนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว หวังลดต้นทุนค่าขนส่งพลังงานไฟฟ้า รับนโยบายรัฐเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

ผศ.ดร. มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน  วิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางสถาบันได้ร่วมกับบริษัท เอเชียพลัส อีวี จำกัด หรือ AEV  ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายยานยนต์พลังงานไฟฟ้า(EV) เชิงพาณิชย์ ของ บริษัท เน็กซ์ พอทย์ จำกัด (มหาชน) และ สถาบันมาตรฐานอังกฤษ (The British Standards Institution 2023 ) หรือ BSI  จัดโครงการอบรมให้ความรู้ในหัวข้อ “การจัดการคาร์บอนเครดิต ตามมาตรฐาน ISO 14064-1 , Carbon Trade และ การปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งไฟฟ้า หรือ  EV transportation”  

ภาคขนส่งตื่นตัว ดัน “คาร์บอนเครดิต” ปลุกนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว

ผศ.ดร. มะโน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาด เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 
 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคการขนส่งจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการจัดการขนส่งโดยระบบ  EV transportation และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและวิธีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ให้สามารถจัดทำระบบมาตรฐานการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระดับองค์กร ตามแนวทางมาตรฐาน ISO 14064-1:2018 

ภาคขนส่งตื่นตัว ดัน “คาร์บอนเครดิต” ปลุกนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว

ขณะเดียวกันควรเพิ่มความรู้เกี่ยวกับมาตรการ CBAM (ซีแบม) ซึ่งเป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในประเทศกลุ่มอียู เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีความสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  และวิเคราะห์หาแนวทางในการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป

นายอิทธิวัตร เภาสูตร์ ประธานบริหาร บริษัทเอเซียพลัส อีวี จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญเรื่องนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียวอย่างมาก จึงร่วมกับสถาบันฯดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลความรู้อย่างถูกต้อง รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยานยนต์ EV  ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลอยขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งจากการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันได้อีก

ภาคขนส่งตื่นตัว ดัน “คาร์บอนเครดิต” ปลุกนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว
ด้านผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสนใจและเริ่มหันมาเปลี่ยนใช้ยานพาหนะ EV เพื่อการขนส่งสินค้ามากขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลว่าสามารถนำไปสู่การยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถนำประโยชน์ไปใช้ในการชดเชยคาร์บอน ผ่านปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ และนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนได้ 


นายอิทธิวัตร กล่าวต่อว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเป็นที่ปรึกษา EV transportation Solution แบบ Ecosystem ไม่ใช่เพียงแค่ดีลเลอร์ขายรถ EV เท่านั้น แต่ต้องสามารถตอบโจทย์ให้ลูกค้าด้วยการนำเสนอโมเดลที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจภาคการขนส่งด้วยมิติใหม่ โดยจะให้คำปรึกษาด้านนวัตกรรมโลจิสติกส์สีเขียว รวมถึงการออกแบบเส้นทางการขนส่งสินค้าอย่างคุ้มค่า ตลอดจนการให้บริการหลังการขายในการจัดทำข้อมูลการใช้งานของรถ EV เชิงพาณิชย์ 

 

นอกจากนี้บริษัทจะจัดทำรายงานการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร และการสะสมคาร์บอนเครดิตที่จะนำไปสู่การซื้อขายในอนาคต จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มรายรับให้กับผู้ประกอบการ ที่สำคัญยังเป็นการสนองนโยบายภาครัฐที่จะนำไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอีกด้วย