ปรากฎการณ์เอลนีโญ กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลกจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ปริมาณฝนที่ตกลดน้อยลง กระทบต่อปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเริ่มมีผลต่อการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในสปป.ลาว คิดเป็นสัดส่วนราว 11% กำลังประสบปัญหาการผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณที่ลดลงแล้ว
ทั้งนี้ สะท้อนได้จากผลการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนํ้าในสปป.ลาว มีรายได้ลดลงจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงไม่ว่าจะเป็นบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นต้น
ขณะที่กรมชลประทานรายงานว่า ปัจจุบันสภาพนํ้าในอ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่ของไทย ปริมาตรนํ้าในอ่างฯ อยู่ที่ 38,440 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 54 % ของปริมาตรนํ้าที่ใช้การได้ (ปริมาตรนํ้าใช้การได้ 14,903 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 31% ) ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีปริมาตรนํ้าในอ่างฯ อยู่ที่ 41,098 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58% หรือตํ่ากว่าปี 2565 อยู่ราว 2,658 ล้านลูกบาศก์เมตร
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ได้เริ่มส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าของไทยแล้ว เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนํ้า ซึ่งมีต้นทุนตํ่าราว 2.60-2.80 บาทต่อหน่วย ส่วนใหญ่มาจากโรงไฟฟ้าพลังนํ้าจากสปป.ลาว ปริมาณนํ้าในเขื่อนต่าง ๆ เริ่มลดตํ่าลง โดยหลังจากนี้ไปมีการประเมินว่าพลังงานไฟฟ้าจากพลังนํ้าที่จะต้องจัดซื้อตามแผนในปี 2566 นี้ประมาณ 2.3 หมื่นล้านหน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 11% จากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศราว 208,000 ล้านหน่วย จะลดลงราว 4,000 ล้านหน่วย หรือหายไปราว 2 % เหลือเพียง 19,000 ล้านหน่วย เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังนํ้าหรือเขื่อนต่าง ๆ มีปริมาณนํ้าลดตํ่าลงไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจ่ายให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะมีความจำเป็นต้องกักเก็บนํ้าไว้ผลิตไฟฟ้าในปีหน้าด้วย
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงพลังงานได้รับทราบปัญหาและได้มีการวางแผนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดหาเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานไฟฟ้าจากพลังนํ้าที่หายไปแล้ว โดยวางแผนที่จะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในรูปแบบ สปอต LNG เพิ่มขึ้นอีก 8 ลำ หรือประมาณ 4.8 แสนตัน จากทั้งปีที่วางแผนไว้ราว 100 ลำ หรือราว 6 ล้านตัน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบมกราคม-เมษายน 2567 บ้าง แต่อาจจะไม่มากนัก เนื่องจากราคาแอลเอ็นจีที่นำเข้ามายังอยู่ในระดับตํ่าราว 12-13 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
ส่วนผลกระทบเอลนีโญ ที่จะมีผลกระทบต่อปริมาณนํ้าในเขื่อนปี 2567 มากน้อยแค่ไหน ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะรับซื้อไฟฟ้า ได้แจ้งให้โรงไฟฟ้าพลังนํ้าในสปป.ลาว ประเมินความรุนแรงหรือปริมาณนํ้าในอ่างที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าในปีหน้าให้กฟผ.ทราบ หลังจากสิ้นสุดฤดูฝนหรือราวสิ้นเดือนตุลาคม 2566 เพื่อที่กฟผ.จะได้วางแผนในการจัดหาเชื้อเพลิงรองรับการผลิตไฟฟ้าต่อไป ซึ่งเบื้องต้นเวลานี้ประเมินไว้คราว ๆ ว่าปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังนํ้าจากสปป.ลาวในปีหน้าจะหายไปราว 1,500 ล้านหน่วย หรือต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทนราว 3 ลำ หรือ 1.8 แสนตัน
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจะมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณหรือ G1ในอ่าวไทย จะเป็นไปตามแผนด้วยหรือไม่ จากปัจจุบันผลิตได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตํ่ากว่าสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยตามแผนภายในสิ้นธันวาคมนี้ จะผลิตก๊าซเพิ่มมาเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเมื่อถึงกลางปี 2567 จะผลิตได้ครบตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากไม่เป็นไปตามแผน ก็จะส่งต่อปริมาณการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีใกล้เคียงกับปีนี้ โดยยังไม่ได้นำสถานการณ์นํ้าในเขื่อนของสปป.ลาวมาประเมินว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
“หากสถานการณ์ราคาก๊าซแอลเอ็นจียังอยู่ในระดับนี้ ซึ่งเป็นระดับราคาใกล้เคียงกับสัญญาระยะยาวที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ทำไว้ ก็คงไม่มีปัญหา เพราะแข่งขันกับราคาก๊าซในอ่าวไทยได้ ค่าไฟฟ้าจะขึ้นไม่มาก แต่ในอนาคตอันใกล้ ไม่มีใครประเมินได้ว่าราคาก๊าซแอลเอ็นจี ในรูปแบบ สปอต LNG จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนไหน เพราะมีปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง หากทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก ก็จะมีผลต่อราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นไป หากบวกปัจจัยปริมาณนํ้าในเขื่อนสปป.ลาวในปีหน้าอยู่ในระดับตํ่ามาก ๆ อีก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้นไปอีก
ดังนั้น การจัดหาแหล่งพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญเชิงนโยบายของรัฐบาลว่าจะวางแผนในการจัดซื้อแอลเอ็นจีที่อยู่ในช่วงราคาตํ่ามาเก็บไว้จะเป็นอย่างไร”
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ชี้ให้เห็นว่า สำหรับการวางแผนการจัดหาไฟฟ้าที่ซื้อจากสปป.ลาวในช่วงที่มีปริมาณนํ้าน้อยไม่เพียงพอผลิตไฟฟ้าส่งให้ไทยนั้น จำเป็นต้องปรับเพิ่มการซื้อก๊าซธรรมชาติในขณะที่ราคายังถูกอยู่เพื่อรองรับการใช้ก๊าซแทนพลังนํ้า ถือเป็นการวางแผนหากต้องมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่น ๆ ผลิตไฟฟ้าลดลง ซึ่งต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับทราบข้อมูลและปัญหาที่แท้จริงโดยไม่บิดเบือน
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower กล่าวว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน เกิดภัยแล้งเป็นวงกว้าง รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าของโรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้างึม 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และปริมาณนํ้าไหลผ่านโรงไฟฟ้าพลังนํ้า ไซยะบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ผลการดำเนินงานของ CKPower ในไตรมาสที่ 2/2566 และครึ่งปีแรกของปีนี้ลดลง จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามปริมาณนํ้า โดยบริษัทฯ ได้ประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าภายใต้หลักความระมัดระวังและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรับมือกับสถานการณ์นํ้าน้อย
“ฤดูแล้งของปีนี้ ถือเป็นอีกปีที่หนักหน่วงเพราะมีสถานการณ์เอลนีโญเข้ามาสมทบ แต่บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3914 วันที่ 17 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง