"กฟผ." รุกผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน มุ่งยกระดับสู่พลังงานสีเขียว

04 ส.ค. 2566 | 10:05 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 13:23 น.

"กฟผ." รุกผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน มุ่งยกระดับสู่พลังงานสีเขียว เดินหน้าร่วมมือพันธมิตรภาครัฐและเอกชน หน่วยงานด้านพลังงานออสเตรเลีย เผยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ดำเนินการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และศึกษาพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อให้บริการพลังงานสีเขียว โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศออสเตรเลีย ที่มีเป้าหมายมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ล่าสุด กฟผ. ได้มีโอกาสดูงานแหล่งผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Latrobe Valley Hydrogen Facility โครงการระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ Victorian Big Battery และนวัตกรรมพลังงานจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) และหน่วยงานพันธมิตรด้านพลังงานที่ ประเทศออสเตรเลีย Latrobe Valley Hydrogen Facility 

โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) ที่นำร่องผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินและสารชีวมวล ด้วยขบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ และการกลั่นให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์และขนส่งทางเรือไปยังญี่ปุ่น มีการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่กับกระบวนการดักจับคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี CCS

สอดคล้องกับ กฟผ. ที่ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำเร็จและใช้งานจริงตั้งแต่ปี 2559 โดยกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจนจับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง

กฟผ. รุกผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน มุ่งยกระดับสู่พลังงานเสีเขียว

โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 พร้อมศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะนำร่องในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574 - 2583และมีแผนศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตไฮโดรเจนพร้อมพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน ในพื้นที่กฟผ. คือโรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง

ส่วน CSIRO ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ร่วมมือกับ กฟผ.ศึกษาวิจัยระบบกักเก็บพลังงาน และเชื้อเพลิงไฮโดรเจนทั้งการผลิต การกักเก็บ การขนส่ง รวมถึงการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
 

ขณะที่ระบบกักเก็บพลังงาน โครงการ Victorian Big Battery หนึ่งในโครงการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ขนาด 300 เมกะวัตต์ สร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า ให้กับผู้ใช้ไฟในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย

เช่นเดียวกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ของ กฟผ. ที่มีโครงการนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิจำนวน 16 เมกะวัตต์สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี จำนวน 21 เมกะวัตต์ รวม 37 เมกะวัตต์ ช่วยรักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้า และโครงการพัฒนาสมาร์ทกริด จ.แม่ฮ่องสอน ขนาด4 เมกะวัตต์ เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน