"QTC" รุกธุรกิจโซลาร์เซลล์รับนโยบาย "Net Zero"

11 ส.ค. 2566 | 10:41 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2566 | 10:41 น.

"QTC" รุกธุรกิจโซลาร์เซลล์รับนโยบาย "Net Zero" มุ่งกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ให้ครอบคลุมทั่วทุกมิติ ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน บ้านพักอาศัย และภาคเอกชน พร้อมลุยเปิดสถานีอัดประจุไฟฟ้าแห่งที่ 3

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC เปิดเผยว่า QTC ยังมุ่งธุรกิจโซลาร์เซลล์อย่างต่อเนื่อง ตามแผนการขับเคลื่อนกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ให้ครอบคลุมทั่วทุกมิติ ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน บ้านพักอาศัย และภาคเอกชน ที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดต้นทุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้า 

รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Offset) เพื่อสอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)”

ส่วนการเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) แห่งที่ 3 นั้น คาดว่าจะสามารถสรุปการเปิดให้บริการลูกค้าได้ภายในไตรมาส 4/2566 เพื่อรองรับการใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ QTC มีสินค้าใหม่คือ การให้บริการติดตั้ง Huawei Fusion Charger AC เครื่องชาร์จรถยนต์ EV ที่มีระบบการชาร์จกระแสไฟฟ้าแบบ AC ซึ่งเป็นการให้บริการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าบ้านพักอาศัย คอนโดฯ และห้างสรรพสินค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม QTC ได้ประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริม ให้มีการใช้รถยนต์ EV ของภาครัฐ และ ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเพียงพอต่อจำนวนรถยนต์ EV โดยปัจจุบัน มีสถานีให้บริการที่มีความพร้อมต่อการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ EV จำนวน 4,000 - 5,000 สถานีทั่วประเทศ

QTC รุกธุรกิจโซลาร์เซลล์รับนโยบาย Net Zero

ทำให้ดีมานด์การใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่ง QTC ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ทำให้เล็งเห็นโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาจากกลยุทธ์การขยายธุรกิจแบบเชิงรุกดังกล่าว ทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานปี 2566 มีแนวโน้มแตะระดับ 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

นายพูลพิพัฒน์ ยังได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลัง 2566 ด้วยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะเห็นจากการเตรียมเปิดประมูลในแต่ละโครงการของภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้จะมีดีมานด์การใช้หม้อแปลงไฟฟ้า รวมถึงโซลาร์เซลล์ เพิ่มมากขึ้น อาทิ จากรับรู้จากการประมูลงานของการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) 

และมีการสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าจากลูกค้าภาคเอกชน และต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 600 ล้านบาท และการให้บริการด้านธุรกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ให้กับ LONGI Solar และ Huawei Solar Inverter คาดว่ามีโอกาสที่จะได้งานเพิ่มอีกประมาณ 150 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งปีหลังจะมีมูลค่างานกว่า 750 ล้านบาท
 

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาส 2/2566 บริษัทฯ มีรายได้รวมที่ 270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% (QoQ) และมีผลขาดทุน 2.70 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการรับรู้รายได้จากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า 139 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้งภายใต้การเป็นตัวแทนจำหน่ายโซลาร์เซลล์ ให้กับ LONGI Solar และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Huawei Solar Inverter และ EV Charger จำนวน 102 ล้านบาท ซึ่งยอดขายสินค้าและบริการของหม้อแปลงไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ในไตรมาสดังกล่าวฟื้นตัวตามภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ 

ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปี 2566 ผลการดำเนินงานกลับมีการชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากรายได้ในไตรมาสที่ 1/2566 บริษัทฯ มียอดขายหม้อแปลงและโซลาร์เซลล์ปรับตัวลดลง ประกอบกับบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ต้นทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ทำให้รายได้รวมในครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 475 ล้านบาท มีผลขาดทุน 29 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า 250 ล้านบาท และเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง 170 ล้านบาท