zero-carbon

สรรพสามิต ดัน ESG ตอบโจทย์ความยั่งยืน ลดภาษีธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม

    กรมสรรพสามิต เปิดความท้าทาย “ESG” โลกเปลี่ยน ทุกประเทศให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม แนะผู้ประกอบการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ปรับธุรกิจสู่ความยั่งยืน ชี้สรรพสามิตพร้อมเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กร ลดภาษีให้ธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นำมาสู่ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในอนาคต นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ESG เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของประเทศที่ต้องเผชิญ เพราะทั้งโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานล่าสุดของ Global Climate Risk Index ประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมรุนแรงที่สุดจากทั้งโลก และไทยติดอันดับ 9 ใน 10 ประเทศนั้น

ทั้งนี้ หากเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ขณะที่ภัยแล้งที่กำลังจะมาในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จะกระทบอุตสาหกรรม บริการ และการเกษตร ฉะนั้นภาพเหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของประเทศไทย

สรรพสามิต ดัน ESG ตอบโจทย์ความยั่งยืน ลดภาษีธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ความท้าทายเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา คือ กติกาของโลกที่มีการทำสนธิสัญญาว่าทุกคนจะช่วยลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วม Conference of the Parties หรือ COP20 ที่ประเทศไทยได้จะร่วมมือปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์โดยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน์ในปี 2050 และปล่อยก๊าชเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ใน 2065

ขณะที่การขับเคลื่อนในต่างประเทศเริ่มใช้แล้ว เช่น ยุโรปจะเริ่มนำมาใช้ สำหรับการส่งสินค้าไปยุโรปเดือนตุลาคมนี้ ต้องรายงานการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ และในอีกไม่กี่ปี ใครปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์เกินกำหนดจะต้องเสียภาษี และสหรัฐอเมริกาก็กำลังทำเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นความท้าทายเชิงกฎกติกา

“เป็นคำถามว่าไทยพร้อมหรือยัง ซึ่งทุกวันนี้เราส่งออกทั้งสินค้า และบริการ คิดเป็นสัดส่วน 66% ต่อจีดีพี แบ่งเป็น ส่งออกสินค้า 50% และที่เหลือเป็นส่งออกบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบเศรษฐกิจไทย โดยเรื่องเหล่านี้อาจเป็นปัญหาในการกีดกันทางการค้า ซึ่งเราเคยเจอปัญหาประมงที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ทำให้ส่งออกสินค้าไม่ได้ ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรติดลบ โดยเป็นสิ่งที่เราเคยเจอทั้งหมด แต่จะยิ่งหนักขึ้น”

สรรพสามิต ดัน ESG ตอบโจทย์ความยั่งยืน ลดภาษีธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม วิกฤตอาจจะมาทุกทิศ แต่โอกาสจะมาทุกทางในเชิงธุรกิจ เชื่อว่าทุกบริษัทที่เติบโตขณะนี้สามารถคว้าโอกาสได้ดี ซึ่งโอกาสทางออกนั้น ปัจจุบันแนวความคิด ESG มองแยกส่วนไม่ได้ และเชื่อมโยงกันทั้งหมด หากไม่ทำจะยากต่อการคว้าโอกาส โดยสมัยก่อนบอกเศรษฐกิจไม่ดี อย่าพึ่งไปช่วยสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้คิดแบบนั้นไม่ได้ จะต้องใช้ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมาช่วยในธุรกิจ

ยกตัวอย่าง เช่น สิ่งแวดล้อม แม้ธุรกิจไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่ทุกวันนี้หากนำธุรกิจมาใช้โดยทำธุรกิจที่คำนึงสิ่งแวดล้อม จะคว้าโอกาสการส่งออก เพราะขณะนี้กฎกติกาต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และหากธุรกิจคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมก็มีโอกาสที่จะเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนนั้นด้วย

นอกจากนี้ จะช่วยลดต้นทุนในการผลิต หรือแม้แต่ต้นทุนการเงิน ซึ่งขณะนี้มีสินเชื่อที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก จะช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง ฉะนั้น แนวคิดสิ่งแวดล้อมเอาไว้ทีหลังไม่ใช่แล้ว สิ่งแวดล้อมจะต้องเข้ามาอยู่ในธุรกิจ ขณะที่ในเรื่องสังคม เช่น การละเลยในอดีตอย่างประมง เห็นกันชัดเจนว่าไม่มีผู้รับปลาจากประเทศไทย โดยปัจจุบันจะต้องมีระบบเพื่อแจ้งว่ามีการจับปลาที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเรื่องธรรมาภิบาล การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบได้ โดยขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ให้เปิดเผยความยั่งยืน และเมื่อพบว่าบริษัทไม่เป็นไปตามธรรมาภิบาลราคาหุ้นจะดิ่งลงหนัก

 “ส่วนจะทำอย่างไรนั้น จะต้องมีการนำหลัก ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการใช้กลยุทธ์ ESG ในการดำเนินธุรกิจจะเป็นการคว้าโอกาส ต้นทุนจะถูกลง และบริษัทจะน่าสนใจมากขึ้น”

ขณะที่กรมสรรพสามิตมีการวางเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี แต่มองในระยะยาวข้อจำกัดในการจัดเก็บภาษีของกรมจากสินค้าที่ควบคุมอาจลดลง กรมจึงได้ประกาศเป็นกรม ESG และตั้งเป้าหมายว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่ประกาศเปลี่ยนกลยุทธ์เป็น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น ESG สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

“แม้เราเก็บรายได้ไม่ได้มากขึ้น แต่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืนขึ้น ภาษีรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ขณะนี้ลดให้เหลือ 2% เพื่อให้ฐานการผลิตย้ายมาที่ประเทศไทย เพราะอีกไม่กี่ปีรถทุกค่ายจะประกาศเป็นอีวีทั้งหมด และอีวีที่ได้รับความนิยมขณะนี้ เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน ส่วนหนึ่งมาจากภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามกลยุทธ์ของกรม และพร้อมเสนอรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สังคมธรรมาภิบาล  อะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเราเก็บภาษีเพิ่ม”

ทั้งนี้ กรมอยู่ระหว่างทำไบโอพลาสติก สำหรับเอทานอลที่มาจากอ้อยและนํ้าตาล แปลงมาเป็นไบโอพลาสติก กรมก็จะมีการลดภาษีให้ แล้วจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นเพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตกรีนพลาสติก ซึ่งจะส่งเสริมไปถึงชุมชน เกษตรกร เป็นต้น และยังมีนโยบายให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เรียนรู้นำการออกแบบนวัตกรรมมาใช้ ใส่ใจชุมชนมากขึ้น โดยกรมมีนวัตกรรมกำจัดบุหรี่เถื่อน เพื่อแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ให้ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ รวมทั้งในเรื่องภาษีคาร์บอนที่กำลังศึกษาอยู่ด้วย

“สุดท้ายเรื่อง ESG เป็นโจทย์ที่สำคัญมาก ซึ่งในอดีตเป็นทางเลือกที่ธุรกิจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่วันนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด และภาครัฐต้องทำร่วมกับเอกชน”