“เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ยังไม่ใช่มรดกโลกเสี่ยงอันตราย แต่ “เอลนีโญ” มาถึงแล้ว

02 ส.ค. 2566 | 12:00 น.
564

"ยูเนสโก" ยังไม่เพิ่ม “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” Great Barrier Reef มรดกโลกของออสเตรเลีย ในรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย แต่ ภาวะ“เอลนีโญ” ได้มาถึงแล้วและมหาสมุทรจะร้อนขึ้นอีก

คณะกรรมการมรดกโลก "ยูเนสโก" ได้ตัดสินใจที่จะไม่เพิ่มแนวปะการัง เกรตแบร์ริเออร์รีฟ Great Barrier Reef ของออสเตรเลีย เข้าไปในรายชื่อ "มรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย" หรือ World Heritage in Danger แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่บ่งชี้ว่าแนวปะการังนี้มีความเสี่ยงที่จะมีการฟอกขาวครั้งใหญ่อีกครั้งในฤดูร้อนที่จะถึง และนักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงตั้งคำถามว่าทำไม

เมื่อ “เวนิส” อาจกลายเป็นมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย

ข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.66) คณะกรรมการกล่าวว่ารัฐบาลออสเตรเลียรายงานความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับแนวปะการังซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก เป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมากที่สุดของออสเตรเลีย แต่ยังคงอยู่ภายใต้ “ภัยคุกคามร้ายแรง” จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษ 

คณะกรรมการกล่าวว่า การดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำเป็นภารกิจสำคัญในการปรับปรุงเเนวประการังนี้ และขอให้รัฐบาลรายงานกลับมาภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – ช่วงฤดูร้อนของออสเตรเลีย  

 

ด้านนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่จะดีขึ้นในอีก 6 เดือนนับจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักพยากรณ์อากาศกล่าวว่าการมาถึงของ "เอลนีโญ" ซึ่งเป็นความผันผวนของสภาพอากาศตามธรรมชาติ เเละโดยทั่วไปจะมีผลกระทบต่อ "ภาวะโลกร้อน" ที่สำคัญจะทำให้มหาสมุทรร้อนขึ้นอีก

มหาสมุทรกำลังเปลี่ยนสี ภาวะโลกร้อนอาจเป็นตัวการ

“ด้วยนโยบายปัจจุบันและการปล่อยมลพิษ เห็นได้ชัดว่ากำลังอยู่ในเส้นทางที่จะเห็นการลดลงของแนวปะการังทั่วโลกอย่างน้อย 99% และถ้านั่นไม่ได้เป็นการบอกว่าแนวปะการังกำลังตกอยู่ในอันตราย ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร"  นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จาก ARC Center of Excellence for Climate Extremes และ Monash University กล่าวกับ CNN 

แนวปะการัง Great Barrier Reef

ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 133,000 ตารางไมล์ หรือประมาณ 345,000 ตารางกิโลเมตร เป็นที่อยู่อาศัยของปลามากกว่า 1,500 สายพันธุ์และปะการังแข็ง 411 สายพันธุ์ สร้างมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับเศรษฐกิจออสเตรเลียในแต่ละปี และได้รับการโปรโมทอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศและของโลก

นับตั้งแต่คณะกรรมการมรดกโลกหยิบยกความเป็นไปได้ของการจัดอันดับอยู่ในภาวะอันตรายครั้งแรกในปี 2564 รัฐบาลออสเตรเลียชุดต่อๆ มาก็ทำงานอย่างหนักเพื่อให้คณะกรรมการเชื่อว่ารัฐบาลดูแลอย่างดี

Tanya Plibersek รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย บอกว่าบุนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของรัฐบาลตั้งแต่เข้ามามีอำนาจในปี 2565 รวมถึงการใช้จ่ายหลายล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและการจัดการแนวปะการัง ตลอดจนมาตรการต่างๆ เพื่อลดมลพิษจากความร้อนของโลก รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างไฟฟ้าให้กับบ้าน

แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟประสบปัญหาการฟอกขาว

การประสบปัญหาการฟอกขาวครั้งใหญ่ในปี 2559 2560 และ 2563 เกิดจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นในขณะที่โลกยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อน

เหตุการณ์ฟอกขาวอีกครั้งในปี 2565 ระหว่างเหตุการณ์ลานีญา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคู่กันของเอลนีโญทำให้เกิดความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มและแผนการจัดการของประเทศ

ในร่างคำตัดสินเมื่อวันจันทร์ คณะกรรมการระบุว่า แนวปะการังได้รับการฟื้นตัวบางส่วนนับตั้งแต่เหตุการณ์ฟอกขาวครั้งล่าสุด และสิ่งมีชีวิตสำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้นหรือคงที่

คณะกรรมการยังชื่นชม การดำเนินการล่าสุดของรัฐบาล แต่กล่าวว่าจำเป็นต้องทำมากกว่านี้เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและเพื่อเสริมสร้างแผนดำเนินการในปี 2593/2050 ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย กล่าวว่ารัฐบาลตระหนักดีว่าจำเป็นต้องทำงานมากขึ้น เพื่อปกป้องไม่เพียงแค่แนวปะการังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวออสเตรเลียหลายพันคน

ปะการังฟอกขาว (coral bleaching) คืออะไร

เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่นอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอด

แนวโน้มของแนวปะการังไม่น่าจะดีขึ้นในช่วงเส้นตายของรัฐบาล

เทอร์รี่ ฮิวจ์ส ผู้อำนวยการ ARC Center of Excellence for Coral Reef Studies กล่าวว่า แนวปะการัง Great Barrier ยุติลง และการประเมินครั้งต่อไปเกี่ยวกับการระบุว่าแนวปะการังตกอยู่ในภาวะอันตราย ล่าช้าออกไปอีกปีหนึ่ง 

สำนักอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลียกล่าวว่าการมาถึงของ "เอลนีโญ" นั้น น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าแม้ว่าสำนักงานบริหารบรรยากาศมหาสมุทรแห่งชาติของสหรัฐฯ ( NOAA ) และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจะประกาศการมาถึงแล้วก็ตาม

“เมื่อสภาวะเอลนีโญรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เป็นไปได้มากที่จะได้เห็นเหตุการณ์การฟอกขาวครั้งใหญ่อีกครั้งในฤดูร้อนหน้า” ฮิวจ์สกล่าว

ขณะที่ตามรายงานของ Australian Institute's Coal Mine Tracker รัฐบาลอนุมัติเหมืองถ่านหินใหม่ 3 แห่งหรือการขยาย นับตั้งแต่เข้ามามีอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2565

ข้อมูล

World Heritage List

State of conservation of properties inscribed on the World Heritage List (หน้า 25)

CNN

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา

Coral bleaching: causes and consequences