อีกก้าว "DITTO" รุกธุรกิจ "คาร์บอนเครดิต" เดินหน้าเต็มสูบ ทะลุ 1 แสนไร่

31 ก.ค. 2566 | 12:40 น.

อีกก้าว "DITTO" รุกธุรกิจ "คาร์บอนเครดิต" เเบบเต็มสูบ ทะลุ 1 แสนไร่ หนุนชาว “เกาะลันตา” จังหวัดกระบี่สร้างรายได้ เดินหน้า Token คาร์บอนเครดิต

เมื่อเร็วๆ นี้ วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็น "วันป่าชายเลนโลก" กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับภาคีชุมชนชายฝั่งเครือข่ายพันธมิตร และจังหวัดกระบี่ จัดกิจกรรมวันสากลเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าชายเลน หรือ "วันป่าชายเลนโลก ประจำปี พ.ศ. 2566"

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม ในพื้นที่แปลงปลูกป่าโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต บ้านต้นทัง หมู่ที่ 7 ต.คลองยาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่

"เป้าหมายที่ทุกคนอยากเห็น คือ การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ป่าชายเลน เชื่อว่ากิจกรรมวันป่าชายเลนโลก 2566 ที่มีการร่วมกันปลูกป่าชายเลนในแปลงโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ผ่านกระบวนการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมในโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ตลอดจนเสริมสร้างพลังของพี่น้องประชาชน เพิ่มแรงผลักดันให้ทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจในการสนับสนุนโครงการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไป"  ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว 

วันป่าชายเลนโลก

ข้อมูลจาก นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.)  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงานเพื่อให้สอดรับกับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รวมถึงการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ที่มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเตรียมการตามภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ที่ผ่านมา กรม ทช. ได้จัดทำ “โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ซึ่งป่าชายเลนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมถึงเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2574 เนื้อที่ 300,000 ไร่ พร้อมได้ออกระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอกและชุมชน พ.ศ. 2565 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน

ซึ่งขณะนี้มีชุมชนที่ขึ้นทะเบียนป่าชายเลนสำหรับชุมชนแล้ว จำนวน 58 ชุมชน เนื้อที่ 94,031.23 ไร่ โดยมีองค์กรผู้ร่วมพัฒนาที่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับบุคคลภายนอกแล้ว จำนวน 14 องค์กร เนื้อที่ 41,031.04 ไร่ และสำหรับโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน ได้อนุมัติให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกับบริษัทแล้ว จำนวน 54 ชุมชน รวมเนื้อที่ 90,629.41 ไร่

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.)  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)

ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนมากเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ไม่เพียงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฐานะแหล่งอาหาร ยา พลังงาน และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่  อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากวิกฤตการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเทศไทยจึงเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

กระทรวงฯ ทส.ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 โดยเฉพาะการเดินหน้าส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตให้เป็นรูปธรรมผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อน พร้อมกับมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ

อีกก้าว " DITTO " รุกธุรกิจ "คาร์บอนเครดิต" เดินหน้าเต็มสูบ ทะลุ 1 แสนไร่  

โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จาก คาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Credit โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เปิดให้เอกชนขออนุญาตดูแลรักษาป่า นับเป็นโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ระบุว่า โครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยโดยมีDITTOถือหุ้น 100% เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ปลูกและดูแลรักษาป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต ระยะเวลา 30ปี

บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DITTO ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการ โดยได้รับจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าชายเลน จำนวน 11,448 ไร่ เป็นเวลา 30 ปี เพื่อใช้ประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต ล่าสุดบริษัทได้รับสิทธิ์ดูแลพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มอีกจำนวน 62,781.72 ไร่ จาก 39 ชุมชนในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฏร์ธานีและชุมพร  จากเดิมที DITTO มีพื้นที่ปลูกป่าชายแลนทั้งในส่วนของทางบริษัทได้รับสิทธิ์โดยตรงและร่วมกับชุมชน รวมทั้งสิ้น 48,166.75 ไร่

โดยในส่วนที่ได้รับสิทธิ์ในนามสยามทีซีเทคโนโลยี เป็นป่าชายเลนที่ต้องปลูกใหม่จำนวน 21,658.19 ไร่และได้รับสิทธิ์ดูแลป่าชายเลนซึ่งมีสภาพป่าอยู่แล้วร่วมกับชุมชนอีก14ชุมชน ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดพังงา จำนวน 26,508-2-22 ไร่

เมื่อรวมกับพื้นที่ป่าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่ อีกจำนวน 62,781.72 ไร่ ทำให้ DITTO ได้รับสิทธิ์ดูแลพื้นที่ป่าชายแลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต รวมทั้งสิ้น 110,948.47 ไร่ ซึ่งบรรลุตามเป้าหมายตามที่ตั้งไว้  1 แสนไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับในการเข้าร่วมโครงการของชุมชนนั้นDITTOได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการและดูแลรักษาป่าเพื่อให้ป่ามีความสมบูรณ์และยังจะให้การสนับสนุนชุมชนในด้านอื่นๆอีกด้วย เมื่อเร็วๆนี้ ทางผู้บริหารของ DITTOได้มอบทุนให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการรุ่นแรก 14 ชุมชนๆละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 2.8 ล้านบาท

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

"บริษัทได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน)หรือ อบก. เป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารต่างๆเพื่อเข้าร่วมโครงการPremiumT-VERโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานขั้นสูงสุดของประเทศไทยส่วนเรื่องเตรียมการปลูกมีความคืบหน้าไปมากได้ทยอยนำกล้าที่เพาะไว้ไปปลูกในพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติแล้วทั้ง17 จังหวัด"

เดินหน้า Token คาร์บอนเครดิต

สำหรับความคืบหน้าการออกโทเคนเพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนนำมาใช้โครงการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต DITTO ได้เซ็นสัญญาแต่งตั้ง บริษัท โทเคน เอ็กซ์ ในเครือ เอสซีบี เป็นผู้ดำเนินการ ขณะนี้มีผู้สนใจติดต่อสอบถามเข้ามาจำนวนมาก คาดว่าต้นปี 67 จะเปิดให้ผู้สนใจจะเข้ามาลงทุนในเหรียญโทเคน ได้

"หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเสนอเข้า ครม.พิจารณาและนำเสนอต่อรัฐสภาออกเป็นกฏหมายบังคับใช้ต่อไป เพื่อรองรับการแก้ปัญหาภูมิอากาศระดับประเทศและระดับนานาชาติ พร้อมทั้งรองรับการตั้งกำแพงภาษีของประเทศผู้นำเข้า เช่น CBAMของสหภาพยุโรป ที่จะส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศดังกล่าวให้สามารถปรับตัวได้ทันสถานการณ์" 

 

ยกร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเเล้ว รอรัฐบาลใหม่ 

สอดคล้องกับความเห็นของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ระบุว่าถึง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. กระทรวงฯ ได้ยกร่างตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อเสนอให้ปฏิบัติตามโดยภาคสมัครใจ

"ขั้นตอนจากนี้ต้องรอรัฐบาลใหม่เพื่อเข้าสู่กระบวนการสภานิติบัญญัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องใช้เวลาในทุกมิติ เพราะจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต รวมทั้ง การตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่าน ครม.แล้ว ที่เหลือรอรัฐบาลใหม่เช่นกัน” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าว 

 

เดินหน้าดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต สำหรับชุมชน จ.กระบี่

คาร์บอนเครดิต เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ เพราะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหได้ และพื้นที่ป่าชายเลนถือเป็นหนึ่งในแหล่งสะสมคาร์บอนมากกว่าป่าบก 4 เท่า ประมาณ 9.4 ตัน ต่อไร่ต่อปี เช่นเดียวกับป่าชายเลนชุมชนบ้านโคกยูง หมู่ที่ 3 ต.คลองยาว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เดินหน้าพัฒนาพื้นที่เพื่อขายคาร์บอนเครดิตอย่างต่อเนื่อง 

"ประชาชนที่นี่มีความเข้าใจเรื่องคาร์บอนเครดิตจากป่าชายเลน นอกจากจะเป็นผลดีต่อโลกยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนจากโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเคร จากโครงการของภาครัฐ และบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี ให้เงินสนับสนุนชาวบ้านเริ่มตั้งแต่ปี 2565 จนกว่าจะครบ 30 ปี" “ประนอม หัวงเสล่ะ” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านโคกยูง ต.คลองยาว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรับผิดชอบดูแลป่าชายเลนทั้งประเทศ ประมาณ 2.86 ล้านไร่ รวม 24 จังหวัด ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์อยู่เพียง 1.73 ล้านไร่

  อีกก้าว \"DITTO\" รุกธุรกิจ \"คาร์บอนเครดิต\" เดินหน้าเต็มสูบ ทะลุ 1 แสนไร่