"โลกเดือด" เริ่มแล้ว UN เตือนอุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินคำว่าโลกร้อน

28 ก.ค. 2566 | 19:18 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 19:37 น.
923

"โลกเดือด" เริ่มแล้ว สหประชาชาติ (UN) เตือนอุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินคำว่าโลกร้อน 2 หน่วยงานสากล ออกแถลงการณ์ร่วมชี้วิกฤตโลกร้อน เดือนกรกฎาคม 2023 อุณหภูมิพุ่งสูงทุบสถิติความร้อนโลก

ในขณะที่ทั่วโลกได้ร่วมมือกันกำหนดมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน หลายประเทศประกาศนโยบายต่างๆออกมา เช่น "Carbon neutrality"(ความเป็นกลางทางคาร์บอน) , "Net zero emissions" (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) หรือ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว(BCG) เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่าความพยายามของมนุษยชาติ จะไม่ทันการเสียแล้ว เมื่อองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ (UN) และ Copernicus Climate Change Service (C3S) แห่งสหภาพยุโรป ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุว่า เดือนกรกฎาคม 2023 กลายเป็นเดือนที่ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดในโลกไปเรียบร้อย 

โลกร้อน โลกเดือด

หลังจากนั้น นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการUN ก็ได้เปิดเผยว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ภาวะ “โลกเดือด” พร้อมระบุว่า นี่คือภัยพิบัติสำหรับโลกของเรา โดยในเดือนกรกฎาคม 2023 กำลังจะทำลายสถิติที่มีอยู่ทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว และมันเพิ่งเริ่มขึ้น ตอนนี้ยุคของภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และยุคของโลกเดือดกำลังจะมาถึง

กุแตเรซกล่าวว่า ผลที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นไปตามคำทำนายและการเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของนักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ประหลาดใจ คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเรียกร้องให้โลกหันมาดำเนินมาตรการอย่างไม่ลังเล และไม่รีรอที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหา

กุแตเรซเคยเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วให้คำมั่นว่าจะไปให้ถึงเป้าหมายการไปให้ถึง Carbon neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) หรือ Net zero emissions (การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์) ภายในปี 2040 และสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้ได้ภายในปี 2050

 

ทั้งนี้ การศึกษาใหม่โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ แสดงให้เห็นว่าความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนมีความจำเป็นในทันที หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  

องค์ประกอบสำคัญของข้อตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย คือ ความมุ่งมั่นที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซยส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม สิ่งนี้จำเป็นต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในหรือประมาณปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซมีเทนและอื่นๆ  

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ใน Communications Earth & Environment ชี้ให้เห็นว่าระดับภาวะโลกร้อนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม อาจถูกจำกัดให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หากความพยายามลดก๊าซมีเทนในระดับโลก เริ่มต้นก่อนปี 2030 จากผลการวิจัยของกลุ่ม ทุกๆ 10 ปี ความล่าช้าในการลดก๊าซมีเทนจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.1 องศาเซลเซียส 

ที่มา : Metro ,  phys.org , sdgmove