zero-carbon

การลดก๊าซมีเทนล่าช้า เสี่ยงโลกร้อนสูงถึง 2 องศาเซลเซียส

    การชะลอการลดก๊าซมีเทนไปจนถึงปี 2040 หรือหลังจากนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนที่สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์

ก๊าซมีเทน เป็นอีกหนึ่งตัวการที่ทำให้เกิด ภาวะโลกร้อน ที่ต้องได้รับการควบคุมจัดการ ไม่ใช่เพียงแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น เเต่มีเทน (methane) เป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับที่สองรองจากคาร์บอนไดออกไซด์มีคุณสมบัติที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 80 เท่า

เพราะ 1 โมเลกุลของมีเทนมีประสิทธิภาพในการดักจับความร้อนได้มากกว่า 1 โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีเทนที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะคงอยู่ได้เป็นเวลาสั้นกว่าที่ 12 ปีก่อนที่จะค่อย ๆ เสื่อมลง เมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานมากกว่า 100 ปี

 

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลก โดยมุ่งความสนใจไปที่ก๊าซที่มีปริมาณมากที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนเท่านั้น นั่นคือ คาร์บอนไดออกไซด์ เเต่ล่าสุด การศึกษาใหม่โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ แสดงให้เห็นว่าความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนมีความจำเป็นในทันที หากเราต้องการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  

องค์ประกอบสำคัญของข้อตกลงปารีสปี 2015 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย คือ ความมุ่งมั่นที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซยส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม สิ่งนี้จำเป็นต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในหรือประมาณปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซมีเทนและอื่นๆ  

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ใน Communications Earth & Environment ชี้ให้เห็นว่าระดับภาวะโลกร้อนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม อาจถูกจำกัดให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หากความพยายามลดก๊าซมีเทนในระดับโลก เริ่มต้นก่อนปี 2030

การชะลอการลดก๊าซมีเทนไปจนถึงปี 2040 หรือหลังจากนั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนที่สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ก็ตาม

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา กว่า 60% ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลก เกิดขึ้นเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลการผลิตปศุสัตว์การเกษตร และของเสีย

"เราเน้นย้ำว่าการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ Global Methane Pledge หรือข้อปฏิญญาว่าด้วยการลดปล่อยก๊าซมีเทนระดับโลก ไม่ควรล่าช้า เพราะทุกๆ ปีของการลดก๊าซมีเทนที่ล่าช้านั้นบ่งบอกถึงภาวะโลกร้อนที่เพิ่มมากขึ้น" 

จากผลการวิจัยของกลุ่ม ทุกๆ 10 ปี ความล่าช้าในการลดก๊าซมีเทนจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.1 องศาเซลเซียส

ผลลัพธ์ของพวกเขาเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนโดยมนุษย์ทั่วโลกในทันที พร้อมกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก

ข้อมูล : phys.org , sdgmove

Delaying methane mitigation increases the risk of breaching the 2 °C warming limit