ที่มาที่ไป พันธกิจ แผนงาน และเป้าหมายของ SeaChange 2030 จะเป็นอย่างไรนั้น นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์อย่างละเอียด
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า SeaChange 2030 เป็นการต่อยอดจากกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัทที่ได้ประกาศครั้งแรกในปี 2016(2559)โดยครั้งนี้ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศพันธกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 11 ข้อ ครอบคลุมการดูแลทั้งผู้คนและโลกสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งได้ประกาศให้เป็นพันธกิจของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปที่มีธุรกิจ และโรงงานผลิตอยู่ในหลายภูมิภาคพร้อมกันทั่วโลก
สำหรับ 11 พันธกิจนี้ (กราฟิกประกอบ) นายธีรพงศ์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเปรียบเสมือนใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจที่จะช่วยให้บริษัทบรรลุวิสัยทัศน์(Vision) บริษัทผู้นำด้านอาหารทะเลที่ได้รับความไว้วางใจมากที่สุดในโลก พร้อมทั้งดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ซึ่งจากที่ไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ลูกค้า ผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ซึ่งในทุก ๆ ส่วนมีความต้องการที่จะเห็นไทยยูเนี่ยนเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ทรัพยากรทางทะเลเป็นพื้นฐานหลักในการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าไม่มีทรัพยากรก็ไม่มีธุรกิจ
“เราได้วางแผนจัดสรรงบประมาณสำหรับกลยุทธ์ SeaChange® นับจากนี้ไปจนถึงปี 2030 เป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.2 พันล้านบาท เทียบเท่ากำไรสุทธิของบริษัทในปี 2565 เพื่อใช้ในการทำเรื่องนี้ โดยจะเป็นการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งฟังดูใช้เงินค่อนข้างเยอะ แต่เป็นการครอบคลุมใน 8 ปีข้างหน้า”
โดยภายในปี 2030(2573) เป้าหมายของบริษัทจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42% ใน 3 ขอบเขต(SCOPE) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (2593) ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลที่มีขนาดเดียวกัน ไทยยูเนี่ยนถือเป็นบริษัทอาหารทะเลแห่งแรกที่มีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ ที่เป็นกระบวนการตั้งเป้าหมายที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
ผ่านแผนงานและเป้าหมายสำคัญ เช่น อาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติอย่างมีความรับผิดชอบ 100%, กุ้งเพาะเลี้ยงทั้งหมดของบริษัทจะต้องผลิตขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด, 100% ของเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทไม่ได้มาจากเรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU), 100% ของวัตถุดิบถั่วเหลืองและนํ้ามันปาล์มได้รับการรับรองปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนวัตถุดิบไก่จะได้รับการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบเช่นกัน และบรรจุภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัท 100% จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของ SCOPE 3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เวลานี้ทุกโรงงานของไทยยูเนี่ยนทั่วโลก(มี 14 โลเคชั่น) ได้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้พลังงาน และยังเน้นในเรื่องการลดขยะ หรือของเสีย(Waste) ฝังกลบเป็นศูนย์ โดยมีระบบการกำจัดที่มีมาตรฐาน และการปล่อยนํ้าจากโรงงานเป็นศูนย์ โดยนำนํ้าในระบบการผลิตกลับมาใช้หมุนเวียนในระบบใหม่
ทั้งนี้ในส่วนของการลดขยะ หรือของเสีย และปล่อยนํ้าจากโรงงานเป็นศูนย์ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปมีโครงการนำร่องใน 5 โรงงานในเครือ ได้แก่ โรงงานของบริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด หรือ TUM ที่ผลิตอาหารทะเลกระป๋อง 1 โรงงาน (สมุทรสาคร), โรงงานของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผลิตอาหารทะเลกระป๋อง 1 โรงงาน ที่สมุทรสาคร,โรงงานของบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง จำนวน 2 โรงงาน ที่สมุทรสาคร และสงขลา และโรงงานของบริษัท อินเดียน โอเชียนทูน่า จำกัด หรือ IOT ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ประเทศ Seashelles ก่อนขยายผลไปในทุกโรงงานในเครือทั่วโลก
“เป้าหมายสูงสุดของไทยยูเนี่ยนสำหรับ SeaChange® เป็นเรื่องของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน คือทำอย่างไรให้ทรัพยากรทางทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถอยู่ต่อได้ และสามารถใช้ในคนรุ่นหลังต่อไปได้ ขณะเดียวกันประโยชน์ทางอ้อมนอกจากช่วยลดต้นทุนในระยะยาวแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เป็นการสร้างมาตรฐานที่ดี และตรงกับความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคซึ่งในการดำเนินกลยุทธ์นี้ต้องอาศัยหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย เราคงไม่สามารถทำคนเดียวได้” นายธีรพงศ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง