"CV" รุกแปรรูปขยะผลิต RDF ป้อนโรงไฟฟ้า CPX มุ่ง "Net Zero"

18 ก.ค. 2566 | 10:36 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2566 | 10:36 น.

"CV" รุกแปรรูปขยะผลิต RDF ป้อนโรงไฟฟ้า CPX มุ่ง "Net Zero" เดินหน้าช่วยแก้ไขปัญหาขยะชุมชนสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน ชี้ชุมชนและสังคมจะได้พื้นที่บ่อฝังกลบเดิมกลับมาไม่ต้องขยายพื้นที่หรือหาหลุมขยะเพิ่ม

นายเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการรงงานคัดแยกและแปรรูปขยะ RDF ภายใต้ บจ. โคลเวอร์ รีไซเคิ้ล (CVR) 

ทั้งนี้ ได้มีการรับขยะจากชุมชน ห้างสรรพสินค้า และโรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียงในจังหวัดพิจิตรและภาคเหนือตอนล่าง เพื่อใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ป้อนโรงไฟฟ้าขยะ โคลเวอร์ พิจิตร (CPX) และขายให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน 

"CVR ดำเนินธุรกิจคัดแยกและแปรรูปขยะ RDF (Refuse Derived Fuel) จากขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม(ชนิดไม่อันตราย) โดยรับกำจัดขยะอุตสาหกรรม(ชนิดไม่อันตราย) ได้แก่ เศษพลาสติก, เศษผ้า, เศษยาง, เศษหนัง เป็นต้น เพื่อนำมาแปรรูปเป็น RDF type 3 กำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน"

โดยได้รับใบอนุญาต 106 ประกอบกิจการ ผลิตเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมและขยะชุมชน เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
 

สำหรับการรับขยะของ CVR มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 

  • Onsite ให้บริการรื้อร่อนขยะชุมชน ทั้งขยะใหม่ และขยะเก่า ณ บ่อขยะเอกชนต่างๆ  โดยหลังรื้อร่อนจะได้ RDF type 1 และขยะอินทรีย์ โดย RDF type 1 จะถูกส่งไปยังโรงแปรรูปขยะ RDF ของ CVR ที่จ.พิจิตร เป็น RDF type 3 (ขนาดไม่เกิน 3 cm.) 
  • Factory เป็นกระบวนการแปรรูปเชื้อเพลิง RDF ที่โรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือตอนล่าง จ.พิจิตร 

CV รุกแปรรูปขยะผลิต RDF ป้อนโรงไฟฟ้า CPX มุ่ง Net Zero

อย่างไรก็ดี RDF ที่ได้จากกระบวนการแปรรูปขยะ RDF ในส่วนที่ผลิตจากขยะอุตสาหกรรม (ชนิดไม่อันตราย) จะถูกส่งไปยังโรงไฟฟ้าโคลเวอร์ พิจิตร (CPX) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

และส่งขายให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมภายนอก อาทิ โรงงานปูนซีเมนต์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินได้ ส่วน RDF ที่ได้จากการรื้อร่อนขยะชุมชน บริษัทฯ ก็สามารถส่งขายให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมภายนอก

นายเศรษฐศิริ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ เปิดรับกำจัดขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ที่ต้องการกำจัดของเสีย (ชนิดไม่อันตราย) อย่างถูกวิธีและถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ เศษผ้า เศษไม้จากการแปรรูป เศษพลาสติก และมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าบ่อขยะฝังกลบเอกชน ที่ต้องการเคลียร์พื้นที่บ่อฝังกลบขยะที่เต็มแล้วหรือใกล้จะเต็ม รวมถึงพร้อมรับขยะพลังงาน จากแหล่งชุมชน อาทิ ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา โรงแรม เป็นต้น 
 

โดยผู้สนใจสามารถส่งขยะดังกล่าวมาใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาการจัดการขยะของสังคม และนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป 

นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถลด Carbon Footprint for Organization (CFO) ขององค์กรและ Carbon Footprint of Product (CFP) จากการกำจัดขยะ

“รูปแบบดังกล่าว ถือเป็นการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหาขยะชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยประโยชน์ที่จะได้รับ อาทิ ชุมชนและสังคม จะได้พื้นที่บ่อฝังกลบเดิมกลับมาใช้ประโยชน์  โดยไม่ต้องขยายพื้นที่หรือหาหลุมขยะเพิ่ม  สามารถกลับมารองรับขยะใหม่ได้อีกครั้งหรือนำพื้นที่บ่อขยะเดิมไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวได้ เป็นการจัดการขยะอย่างยั่งยืนและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากปัญหาขยะ"

อีกทั้งยังทำให้โรงงานอุตสาหกรรม มีแหล่งกำจัดขยะอุตสาหกรรมประเภทไม่อันตรายที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดค่าใช้จ่ายกำจัดขยะ และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (CFO) และผลิตภัณฑ์ (CFP) อีกทางหนึ่ง

และช่วยแก้ไขปัญหาขยะชุมชน มุ่งสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอนาคต