ส่องแนวทางลดคาร์บอนโครงการสมาร์ท ปาร์คตั้งแต่ก่อสร้าง-ดำเนินการ

14 ก.ค. 2566 | 08:18 น.

ส่องแนวทางลดคาร์บอนโครงการสมาร์ท ปาร์คตั้งแต่ก่อสร้าง-ดำเนินการ สอดรับการเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบสื่อสาร ระบบขนส่ง การจัดการพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการลดการปล่อยคาร์บอน ถือเป็นแนวทางที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และพยายามปฏิบัติ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้จากการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (smart park) ซึ่งคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวตั้งแต่การก่อสร้าง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการ กนอ.เปิดเผยถึงแนวทางการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในระยะก่อสร้าง สมาร์ท ปาร์ค ประกอบด้วย   

  • บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด (ผู้รับจ้างก่อสร้าง) โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม smart park ได้ตอบรับแนวคิดของ กนอ. ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและได้รับการรับรอง มอก. 2594
  • การดำเนินงานก่อสร้างมีความจำเป็นต้องใช้คอนกรีตผสมเสร็จประมาณ 120,000 ลูกบากศ์เมตร คิดเป็นปริมาณปูนซีเมนต์ประมาณ 40,000 ตัน โดยโครงการจะใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดาทั้งหมด ซึ่งจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึงประมาณ 2,000,000 กิโลกรัม หรือ เท่ากับปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 200,000 ต้น

แนวทางการลด CO2 ในระยะดำเนินการ

  • การใช้เทคโนโลยีภายในโครงการ เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน ระบบ Carbon capture and storage (CCS) และระบบขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด จะสามารถลดการปล่อย CO2 ในระยะดำเนินการ ได้ถึง 72% (1,014,000 ตัน/ปี) เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมทั่วไปอื่นๆ

ส่องแนวทางลดคาร์บอนโครงการสมาร์ท ปาร์คตั้งแต่ก่อสร้าง-ดำเนินการ

ส่วนแนวคิดโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park นั้น เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบสื่อสาร ระบบขนส่ง การจัดการพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve โดยแบ่งพื้นที่เป็น Cluster แยกตามลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม 

มีระบบรักษาความปลอดภัยและพื้นที่สีเขียวล้อมรอบแต่ละคลัสเตอร์ นำระบบไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดินเพื่อทัศนียภาพและความปลอดภัย บริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่พาณิชยกรรมเพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค
 

  • สมาร์ทด้านทำเลที่ตั้ง (Smart Location) : ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมของ EEC ล้อมรอบด้วยระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ได้แก่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟทางคู่ เส้นทางมอเตอร์เวย์ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
  • สมาร์ทด้านระบบสาธารณูปโภค (Smart Infrastructure) : .ใช้พลังงานสะอาดจาก Floating Solar ขนาด 17 MW และ Solar Rooftop ขนาด 80 MW ลดการใช้พลังงานโดยรวมด้วยระบบ District Cooling จัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารด้วยระบบท่อร้อยสายใต้ติด
  • สมาร์ทด้านการขนส่ง (Smart Transportation) : ระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาด ระบบจอดรถบริเวณทางเข้าโครงการ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบควบคุมไฟจราจรอัจฉริยะ
  • สมาร์ทด้านกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Smart Industrial New-S curve ) : รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ (Aviation and Logistic) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical device)
  • สมาร์ทด้านสิ่งแวดล้อม Smart Environment : พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 238.32 ไร่ (17% ของพื้นที่โครงการ) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีปล่องระบายมลพิษภายในโครงการ
  • สมาร์ทด้านอาคารประหยัดพลังงาน (Smart Building) : อาคารลดการใช้พลังงานตามมาตรฐานอาคารเขียวของสถาบันอาคารเขียวไทย (TREES) ประเภทอาคารสร้างใหม่
  • สมาร์ทด้านการสื่อสารไร้สาย (Smart IOT) : รองรับระบบสื่อสารทุกโครงข่าย รองรับการจัดตั้ง Data Center รองรับการนำ IOTs มาใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่และกระบวนการผลิต
  • สมาร์ทด้านความปลอดภัย (Smart Security) : ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยระบบ CCTV กระจายตามจุดต่างๆ ของโครงการ
  • สมาร์ทด้านการใช้ชีวิต (Smart Life) : จัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ รวมถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อการสันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนและแรงงานในพื้นที่ 

แนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มุ่งเน้นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน มุ่งเน้นการลดการใช้พลังงานที่เป็นพลังงานไฟฟ้า การลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลจากการเผาเพื่อผลิตความร้อน โดยการไม่สนับสนุนให้มีการระบายมลพิษทางอากาศจากปล่องระบาย ซึ่งสอดคล้องกับค่า Carrying Capacity ด้านมลพิษทางอากาศที่ไม่อนุญาตให้มีการระบายเพิ่มเติมในพื้นที่มาบตาพุด 

รวมทั้งลดการปล่อยมลพิษทางการจราจร นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จึงถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ที่ก้าวข้ามการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นฐานเดิม รองรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมจากการสร้างสรรค์ เนันการผลิตด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่ใช้การผลิตน้อยแต่มีมูลค่าสูง เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมกรรมที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น