zero-carbon

รัฐบาลรุกต่อยอดพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือสีเขียว ลดมลพิษขนส่ง

    รัฐบาลรุกต่อยอดพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่ท่าเรือสีเขียว ลดมลพิษขนส่ง พร้อมสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลักพันล้านบาทต่อปี ดันขึ้นแท่นศูนย์กลางขนส่งทางทะเลระดับเอเชีย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โดยตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ทางการขนส่ง สร้างท่าเรือสีเขียว ลดมลพิษจากการขนส่งพร้อมสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องหลักพันล้านบาทต่อปี รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลระดับเอเชีย

โดยในการดำเนินการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ให้สอดคล้องกับแนวทางท่าเรือสีเขียวจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในท่าเรือได้อย่างมีนัยสำคัญ 3 ประการได้แก่

  • การใช้รถบรรทุกไฟฟ้าและการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) โดยหากท่าเรือแหลมฉบังเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าราว 10% หรือประมาณ 1,000 คันต่อวัน จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของน้ำมันดีเซลสูงถึง 50 ล้านลิตรต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงราว 800 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 4.8 หมื่นตัน CO2e ต่อปี
     
  • การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 11.1% CAGR ในปี 2579 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาราว 600 ล้านบาท และสามารถลดก๊าซ CO2 เฉลี่ยปีละ 4.9 พันตัน CO2e
  • การเปลี่ยนระบบการขนส่งตู้สินค้าเป็นทางรถไฟ โดยท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีแผนจะพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator: SRTO) เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเป็น 6 ล้าน TEU ต่อปี ทำให้แหลมฉบังมีความสามารถในการรองรับปริมาณตู้สินค้าถึง 5.3 ล้าน TEU ต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งราว 1.2 พันล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซ CO2 มากถึง 0.79 ล้านตัน CO2e ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายจากการพัฒนาการขนส่งทางรางของท่าเรือแหลมฉบังของภาครัฐ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยได้วิเคราะห์ว่า แนวทางการพัฒนาท่าเรือสีเขียว ของท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 3 สามารถช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงธุรกิจผลิตแบตเตอรี่อย่างน้อยราว 1.8 หมื่นล้านบาท 

และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น ธุรกิจรับจ้างติดตั้งและก่อสร้างระบบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประมาณ 600 ล้านบาท และในช่วงปี 2567-2578 ส่วนการเปลี่ยนระบบการขนส่งเป็นทางรถไฟมากขึ้น จะช่วยทำให้ธุรกิจผลิตหัวรถจักรไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากการพัฒนาในส่วนนี้

"รัฐบาลผลักดันการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือสีเขียว เพื่อให้รองรับการเติบโตเศรษฐกิจไทย และก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลของเอเชีย รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือสีเขียวตามแนวทางของเศรษฐกิจบีซีจี(BCG) เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจประเภทใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ รองรับความท้าทายในโลก ผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรอบด้าน"