บริษัท ส. เทพกิจ กรุ๊ป จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากการมองเห็นคุณค่าของขยะ เพื่อนำมารีไซเคิล (Recycle) และนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ จากวันวานบริษัทตั้งอยู่พื้นที่เพียง 40 ตารางวา ล่าสุดได้ขยายพื้นที่สู่ขนาด 20 ไร่ เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจ และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “วสุธร วลัญช์อารยะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ส. เทพกิจ กรุ๊ป ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสืบทอดกิจการ ถึงการปรับแนวคิดในการบริหารงานให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ยุคใหม่มากขึ้น
จุดเริ่มต้นก่อนขยายใหญ่
วสุธร เล่าว่า ส. เทพกิจ กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อดำเนินธุรกิจรีไซเคิลแบบครบวงจร เดิมบริษัทฯ ตั้งอยู่ที่ซอยสามมิตรเจริญ ถนนเทพารักษ์ บนเนื้อที่ขนาด 40 ตารางวา เพื่อรับซื้อเศษโลหะ เช่น ทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม สแตนเลส ตะกั่ว ได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า มีการนำสินค้ามาส่งกว่า 100 ตันต่อวัน
เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ จึงขยายพื้นที่จากเดิมเพิ่มเป็น 2 ไร่ และนำสู่การเสาะหาทำเลดำเนินกิจการใหม่บนพื้นที่ขนาด 20 ไร่เมื่อปี 2560 มีพื้นที่จอดรถมากถึง 50 คัน รวมถึงช่องสำหรับรับบริการขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่มากกว่า 4 ช่อง และช่องจอดสำหรับรถพ่วง 18 ล้อ มีพนักงานผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 100 คนคอยให้บริการ ปัจจุบันติด 1 ใน 5 ของบริษัทที่ทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวในประเทศไทย
ลุย SMART Strategy
การก้าวเข้ามารับหน้าที่สืบทอดธุรกิจของ วสุธร ยังมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงด้วยกลยุทธ์การดำเนินงานที่ทันสมัยมากขึ้น โดยปีนี้มีการวางแนวทางหลัก 5 ด้านพร้อมปูทางไปสู่อนาคตภายใต้รูปแบบของ SMART Strategy ประกอบด้วย
“เรายังมองแผนการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยปัจจุบันได้จัดตั้งทีมงานด้านการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นที่น่าสนใจมองไปที่ธุรกิจกลุ่มโลจิสติกส์ และกลุ่มแปรรูปโลหะ ที่สามารถนำมาเสริมศักยภาพของบริษัทฯ ให้เติบโต และกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในอนาคตได้”
“ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตแล้วประมาณ 20% เชื่อว่ายังสามารถเติบโตได้อีกภายใต้กลยุทธ์ที่วางไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันลูกค้าของบริษัทมีทั้งใน และต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน อินเดีย เกาหลี เป็นต้น”
หนึ่งในธุรกิจสร้างความยั่งยืน
วสุธร กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการสร้างความยั่งยืน(sustainability) ให้กับประเทศ จากการเก็บสถิติพบว่า ในทุกปีทั่วโลกมีการรวบรวมขยะมูลฝอยกว่า 10,000 ล้านตัน ในขยะเหล่านั้นก็มีขยะที่บริษัทฯรับซื้ออยู่ด้วย ขณะเดียวกันถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า และยั่งยืน โดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล และกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักร อะไหล่ยานยนต์ อาหาร สอดคล้องกับประเทศไทยที่มีนโยบายผลักดันความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
“จุดเด่น หรือหลักคิดสำคัญในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จของบริษัท อยู่ที่ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่มีการโกงตาชั่ง มีความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และให้ราคาอย่างเป็นธรรม ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นด้วยการแนะนำกันแบบปากต่อปาก” นายวสุธร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง