เปิดแผนขับเคลื่อน "EV" ดีพร้อมนำร่องดัดแปลงรถยนต์ราชการต้นแบบ

18 มิ.ย. 2566 | 00:01 น.

เปิดแผนขับเคลื่อน "EV" ดีพร้อมนำร่องดัดแปลงรถยนต์ราชการต้นแบบ พร้อมเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือข่าย มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รับมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ปี 2566 ดีพร้อมจะดำนเนินการ 2 เรื่องหลักเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV)ประกอบด้วย 

  • การพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 
  • สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือข่ายดีพร้อม

สำหรับการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น ได้มีการนำรถยนต์ราชการเครื่องยนต์สันดาปที่มีสภาพเก่าจำนวน 2 คัน ได้แก่ รถมินิบัสและรถตู้ ที่ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมสูง ใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง ปล่อยก๊าซเรือนกระจก PM 2.5 และไอเสีย มาดัดแปลงเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน เปลี่ยนต้นกำลังจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า
 

"การนำต้นแบบรถยนต์ราชการไฟฟ้าดัดแปลงมาใช้ในการปฏิบัติราชการ ยังสามารถใช้เป็นรถสวัสดิการรับส่งให้กับเจ้าหน้าที่ พนักงาน และบุคลากรในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงสามารถใช้ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จะก่อให้เกิดการสร้างอาชีพในการดัดแปลงและการซ่อมบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยเบื้องต้นกำหนดเปิดตัวเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 100 ล้านบาท"

ขณะที่การสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในเครือข่ายดีพร้อมนั้น จะร่วมกับสมาคมไทยซัพคอน ประมาณ 400 กว่าราย ให้ปรับตัวไปผลิตชิ้นส่วนป้อนอีวี โดยเบื้องต้นดีพร้อมได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งได้เจรจาความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างไทยกับเกาหลีผ่านทางสถาบันยานยนต์ของไทย กับสถาบันยานยนต์เกาหลี โดยมีการเอ็มโอยูร่วมกัน  

รวมทั้งมีการเจรจาให้สถาบันยานยนต์เกาหลีดึงบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของเกาหลีมาลงทุนในไทย โดยเสนอสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

นายไบน้อย กล่าวอีกว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) ที่ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 725,000 คัน ภายในปี 2573 จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนพัฒนาสถานประกอบการ ผู้ประกอบการ บุคลากร และแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่