นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และUN Thailand จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยสามารถแปลงให้กลายเป็นทุนกลับคืนสู่หมู่บ้านและชุมชนได้ในราคา 260 บาทต่อตันเฟสแรกในรูปแบบคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ เป็นการนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน สมุทรสงคราม เลย และอำนาจเจริญ โดยในระยะข้างหน้าจะมีอีก 22 จังหวัด รวมเป็น 26 จังหวัด ซึ่งจะทำให้มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จัดเก็บได้มากกว่า 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนใช้เวลาในการดำเนินการมาเกือบ 10 ปี โดยเกิดขึ้นด้วยการขับเคลื่อนงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและได้พบว่าที่จังหวัดลำพูนมีการคัดแยกขยะในทุกกิจกรรมของชีวิต แม้แต่งานทำบุญ จะไม่มีอาหารตั้งโต๊ะ แต่เป็นบุฟเฟ่ต์เป็นหม้อ ใครจะทานเท่าไหร่ก็ไปเติมตัก
หลังจากนั้นเศษอาหารที่เป็นขยะเปียก หรือเศษใบไม้ ก็มีการคัดแยก เพื่อที่จะทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วยจากไข้ซิก้าอันเกิดจากยุงที่มีแหล่งเพาะพันธุ์จากขยะเน่าเหม็น โดย การจัดการขยะในเวลานั้นใช้เสวียนเป็นหลัก ซึ่งเป็นถังขยะเปียกระบบเปิด จึงได้มาช่วยกันคิดออกแบบจนกลายเป็นถังขยะเปียกลดโลกร้อน
และได้ขับเคลื่อนต่อมาโดยมีภาคีเครือข่าย คือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยมีภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยในเรื่องการรับรองระเบียบวิธีการวิจัย (Methodology) ในการบริหารจัดการขยะของถังขยะเปียกลดโลกร้อน และส่งให้ อบก. รับรองคิดเป็นค่าคาร์บอนเครดิตร่วมกับหน่วยงานภายนอก
นอกจากนี้ ยังมี KBANK ซึ่งผู้ให้บริการทางการเงินรายแรกของประเทศไทยที่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนคัดแยกขยะและจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และสามารถแปลงให้กลายเงินได้
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารเล็งเห็นและให้ความสำคัญต่อการเร่งแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งเปลี่ยนผ่านประเทศไทยและประชาคมเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์