"เอลนีโญ" สัญญาณเตือนความเสี่ยงครั้งใหญ่ภาคเกษตรไทย ปี 2566

16 มิ.ย. 2566 | 07:17 น.
910

“เอลนีโญ” (El Niño) สัญญาณเตือนความเสี่ยงครั้งใหญ่ภาคเกษตรไทย ฟังข้อมูล สภาพัฒน์ แจ้งเตือนปรากฎการณ์สำคัญกระทบเศรษฐกิจ พร้อมติดตามข้อเสนอแนะ และการเตรียมตัวรองรับผลที่จะเกิดขึ้น

“เอลนีโญ” (El Niño) หรือปรากฎการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากปริมาณฝนของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะฤดูร้อนและต้นฤดูฝน ในขณะที่อุณหภูมิของอากาศจะสูงกว่าปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เอลนีโญมีขนาดรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวจะชัดเจนมากขึ้น

ไม่นานมานี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 โดยแจ้งว่า "เอลนีโญ" จะเป็นหนึ่งในข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว “เอลนีโญ” (El Niño) หรือปรากฎการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

คาด “เอลนีโญ” ลากยาวถึงปีหน้า

สศช. อ้างอิงข้อมูลจาก National eather Service; Climate Prediction Centre (NOAA) ได้คาดการณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ ENSO หรือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรและความผัน แปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ มีโอกาส 62% ที่จะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงกุมภาพันธ์ 2567 

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 5% (ค่าปกติ 196.9 มิลลิเมตร) และจะมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ โดยคาดว่าจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 25 - 34 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 28.6 องศาเซลเซียส) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ถึงเดือนกรกฎาคม 2566 

เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 มีปริมาณน้ำใช้การได้จริงรวมอยู่ที่ 6,050 ล้านลูกบาศก์เมตร (คิดเป็น 24.33% ของความจุอ่าง และคิดเป็น 36.12% ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั่วประเทศ) ซึ่งสูงกว่าระดับ 3,540 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าช่วงที่เกิดภาวะภัยแล้งในปี 2558 ที่ระดับ 2,029 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2562 ที่ระดับ 3,733 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

ภาพประกอบข่าว “เอลนีโญ” (El Niño) หรือปรากฎการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

กระทบตัวเลขเศรษฐกิจหนัก

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเนื่องจากสภาวะเอลนีโญที่รุนแรงในปี 2558 และปี 2562 ที่มีสภาวะเอลนีโญ ครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณฝนสะสมน้อยและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติเกือบทุกเดือน

ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำใช้ได้จริงของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคเกษตรอย่างรุนแรง จนทำให้ในปี 2558 และ ปี 2562 GDP ภาคเกษตรลดลง 6.5% และ 1% ตามลำดับ

แนะนำเตรียมตัวรับมือ

สศช. ระบุว่า ภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มการเข้าสู่สภาวะเอลนีโญนั้น ประเทศไทย จึงควรเตรียมความพร้อมโดยการเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และดำเนินมาตรการบริหารจัดการเพื่อรองรับสถานการณ์อย่างเหมาะสมและทันท่วงที 

โดยเฉพาะแนวทางการจัดสรรทรัพยากรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน การหาแหล่งน้ำสำรอง และการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรให้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน ควบคู่ไปกับการดูแลผลผลิตภาคเกษตรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและคุณภาพสินค้า จนทำให้รายได้เกษตรลดลง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ สศช. ยังแนะนำประเด็นในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับการดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในช่วงฤดูเพาะปลูก 2566/2567 

ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพได้ด้วยตนเองและลดการพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ