"GPSC-Meranti" รุกพลังงานสะอาด ไฮโดรเจนสีเขียวป้อนรง.ผลิตเหล็ก

14 มิ.ย. 2566 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2566 | 13:01 น.

"GPSC-Meranti" รุกพลังงานสะอาด ไฮโดรเจนสีเขียวป้อนรง.ผลิตเหล็ก มุ่งเน้นทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท มีเรนติ สตีล จำกัด (Meranti Steel Pte.Ltd.)ผู้ผลิตเหล็กของประเทศสิงคโปร์ 

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด และระบบบริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โดย Meranti มีแผนที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กคุณภาพสูงในไทย เน้นใช้พลังงานสะอาด ทั้งในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม โดยคาดว่าจะมีความต้องการในการใช้ไฟฟ้าประมาณ 150 เมกะวัตต์

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวนั้น เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมพลังงาน ที่มีการผสมผสานการใช้พลังงานหมุนเวียน และการนำพลังงานด้านไฮโดรเจนซึ่งเป็นเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมาเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด

ซึ่งมีการกำหนดแผนการศึกษาโดยใช้ระยะเวลา 2 ปี และสามารถขยายได้อีก 1 ปี โดย GPSC จะเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดเพื่อให้การบริหารต้นทุนด้านพลังงานสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว 

รวมถึงการพัฒนาโซลูชั่นด้านพลังงานที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายโดยในขั้นตอนการศึกษาของโครงการดังกล่าว ยังรวมไปถึงการพัฒนาความร่วมมือจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในอนาคตอีกด้วย

มร.เซบาสเตียน แลนเกนดอร์ฟ (Mr. Sebastian Langendorf) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเรนติ สตีล จำกัด  กล่าวว่า การร่วมมือดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย ที่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 

"บริษัทมีแผนในการจัดตั้งโรงงานเหล็กในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยจะมีการจัดตั้งโรงงานขนาดกำลังผลิต 2 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในครึ่งปีหลังของปี 2570 ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ประกอบกับแนวคิดนวัตกรรมพลังงานและการจัดการความยั่งยืน จะส่งผลให้โรงเหล็กแห่งนี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3 ล้านตันต่อปีเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม"