โดยมีโครงการที่รับรองเครดิตแล้ว 149 โครงการ คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้/กักเก็บได้ 15,803,082 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-ปัจจุบัน 2566) มีการรับรองคาร์บอนเครดิตแล้ว 29 โครงการ คิดเป็นปริมาณ 2,288,46 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปี 2565 มีการรับรอง 59 โครงการ คิดเป็นปริมาณ 4,673,841 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทั้งนี้ ระหว่างปีงบประมาณ 2559 ถึงปัจจุบัน (2566) มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ซื้อขายผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) มีปริมาณ 2,433,083 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 197.06 ล้านบาท
ขณะที่ปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565 -พ.ค.2566 ) มีปริมาณซื้อขายอยู่ราว 474,536 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าราว 46.30 ล้านบาท โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 97.57 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีโครงการป่าไม้ซื้อขายมากที่สุดที่ 208,030 ตัน มีราคาเฉลี่ยที่ 172.77 บาทต่อตัน รองลงมาเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียน ประเภทชีวมวล ปริมาณซื้อขาย 168,398 ตัน ราคาเฉลี่ยที่ 34.45 บาทต่อตันและประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ มีปริมาณซื้อขาย 75,018 ตัน ราคาเฉี่ย 75.01 บาทต่อตัน
อีกทั้ง มีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณารับรองเครดิตจำนวน 209 โครงการ โดยเฉพาะในช่วงปีงบ ประมาณ 2565 มีจำนวน 49 โครงการ และปีงบประมาณ 2566 (ถึงปัจจุบัน) มีจำนวน 34 โครงการ
อบก.ชี้ให้เห็นว่า การขอรับรองคาร์บอนเครดิต มีเอกชนยื่นเสนอโครงการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตามประเภทโครงการต่าง ๆ อาทิ พลังงานหมุนเวียน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร(ป่าชุมชน) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและการผลิตความร้อน เป็นต้น
การยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้นนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นว่าโครงการที่ได้ลงทุนไปเพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าบางโครงการที่ลงทุนไป อาจจะไม่เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน แต่เมื่อสามารถนำคาร์บอนฯที่ลดลงได้ มาขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้โครงการที่ลงทุนไปมีความคุ้มค่าหรือสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนมากยิ่งขึ้นได้
ดังนั้น จึงอยากกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ หันมาลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าจะเป็นโครงการที่อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่หากสามารถนำมาขึ้นทะเบียนและได้รับการรับรอง ก็สามารถนำไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้ให้โครงการที่ลงทุนไปมีผลตอบแทนดีขึ้นได้
ทั้งนี้ เห็นได้จากของ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างรอการรับรองคาร์บอนเครดิต ประเภทการจัดการในภาคขนส่งตามโครงการ T-VER ของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ร่วมกับบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ผู้ให้บริการเดินรถโดยสารประจำทาง ได้ยื่นขึ้นทะเบียนขอรับรองเครดิตมาเมื่อมีนาคม 2566 ถือเป็นตัวอย่างในการสร้างรายได้ให้กับเอกชนที่ลงทุนไปอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่
โครงการรถโดยสารไฟฟ้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล โซน 1 (กรุงเทพฯโซนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนพหลโยธิน) และโซน 2 (กรุงเทพฯ ชั้นในและโซนตะวันตกเฉียงเหนือ) รวมถึงเส้นทางรถโดยสารประจำทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยจำนวนรถโดยสารไฟฟ้า 99 คัน เงินลงทุน 643.5 ล้านบาท ระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565-30 กันยายน 2579
โครงการรถโดยสารไฟฟ้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล โซน 3 ทิศตะวันออก (กรุงเทพฯ โซนตะวันออกเฉียงใต้ : ถนนสุขุมวิท) และโซน 4 ทิศใต้ (กรุงเทพฯ โซนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ถนนเพชรเกษม) จำนวนรถโดยสารไฟฟ้า 55 คัน เงินลงทุน 354.7 ล้านบาท ระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ 30 กันยายน 2565-29 กันยายน 2579
จากการประเมินวิเคราะห์เบื้องต้นของทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ทางบริษัทผู้ยื่นขอรับรองได้รายงานให้เห็นว่า การใช้รถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 154 คันดังกล่าว จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้รวม 5,225 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ขณะที่การลงทุนด้วยจำนวนเงินดังกล่าว บวกกับค่าการดำเนินงานและบำรุงรักษาราว 125.23 ล้านบาทต่อปี โดยมีรายได้ที่คาดการณ์จากราคากลางของช่วงราคาตั๋วที่ 20 บาท จะทำให้มีรายได้อยู่ที่ราว 212.62 ล้านบาทต่อปี หรือมีผลตอบแทน หรือ IRR อยู่ที่ 1.33% แต่หากมีการขายคาร์บอนเครดิตจะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้มาอยู่ที่ราว 255.78 ล้านบาทต่อปี หรือมีอัตราผลตอบแทนของโครงการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 9.30 %
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ อบก.ในการรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งหากผ่านการรับรองแล้ว จะต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบ เนื่องจากโครงการดังกล่าว เป็นโครงการระหว่างประเทศโครงการแรกที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6 และมีทาง Kilk Foundation เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ EA ร่วมกันกับบริษัท South Pole ในการพัฒนาโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงเดิมที่เป็นก๊าซ NGV หรือนํ้ามันดีเซล โดยทาง EA และ Kilk Foundation ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขาย Carbon credit กันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เพื่อนำ Carbon credit ไปลดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง