zero-carbon

วช.จับมือทีมวิจัย 3 มหาวิทยาลัย ปลุกต้นแบบแพลตฟอร์มกักเก็บคาร์บอน

    วช. ดันทีมวิจัย 3 มหาวิทยาลัย เช็คศักยภาพกักเก็บข้อมูลคาร์บอน ลุยพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศ รุกป่าชายเลนแดนใต้ฝั่งอันดามัน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนและหญ้าทะเลที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน

วช.จับมือทีมวิจัย 3 มหาวิทยาลัย ปลุกต้นแบบแพลตฟอร์มกักเก็บคาร์บอน

ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้แก่ชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนและพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนพร้อมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดเครือข่ายอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.วิภารัตน์ กล่าวต่อว่า การประเมินครั้งนี้นำมาซึ่งองค์ความรู้และบทความทางวิชาการเรื่องศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนและหญ้าทะเลของพื้นที่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในการสร้างนักวิจัยชุมชนสร้างผลกระทบในวงกว้างในการสร้างการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยบรรเทาและชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วช.จับมือทีมวิจัย 3 มหาวิทยาลัย ปลุกต้นแบบแพลตฟอร์มกักเก็บคาร์บอน

ทั้งนี้วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนให้การสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์คิดค้นหรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการกักเก็บคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue Carbon) จากระบบนิเวศป่าชายเลนและหญ้าทะเลนั้น มีบทบาทสำคัญในการชะลอและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันพบว่าความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศหญ้าทะเลและป่าชายเลนจะทำให้ความสามารถลดลง ซึ่งแนวทางสำคัญที่จะช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฟื้นฟูบริการของระบบนิเวศชายฝั่งได้นั้น คือ การจัดการ การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งอย่างยั่งยืน

 

สำหรับกระบวนการในการผลิตหรือการกักเก็บคาร์บอนในป่าชายเลนและหญ้าทะเลนั้น เกิดจากการตรึงแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงมาสะสมในตัวพืชและดิน ทำให้ป่าชายเลนและหญ้าทะเลเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ชายฝั่ง มีความสามารถในการสะสมคาร์บอนมากกว่าระบบนิเวศบนบกถึง 10 เท่า (Hilmi et al., 2021)

วช.จับมือทีมวิจัย 3 มหาวิทยาลัย ปลุกต้นแบบแพลตฟอร์มกักเก็บคาร์บอน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลชาติ โชติการ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการประเมินการสะสมคาร์บอนในหญ้าทะเลหรือป่าชายเลนที่ได้รับการฟื้นฟู และการศึกษาจำนวนมากยังขาดค่าประมาณการกักเก็บคาร์บอนที่แม่นยำ

วช.จับมือทีมวิจัย 3 มหาวิทยาลัย ปลุกต้นแบบแพลตฟอร์มกักเก็บคาร์บอน

ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวจึงมีการเก็บข้อมูลการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนและหญ้าทะเลที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ รวมถึงที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งจังหวัดระนองมีเนื้อที่ป่าชายเลนจำนวน 103,493.42 ไร่ และจังหวัดตรังที่มีพื้นที่หญ้าทะเลมีพื้นที่หญ้าทะเลรวม 33,066.48 ไร่ ทำให้พื้นที่ทั้ง 2 มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในระดับสูงมาก

 

ส่วนการกักเก็บคาร์บอนในป่าชายเลนและหญ้าทะเลโดยทั่วไป สูงถึง 495.85 และ 244.75 เมกกะกรัมคาร์บอนต่อไร่ ตามลำดับ (Aye et al., 2023) ทางทีมวิจัยยังมีการจัดกิจกรรม Capacity Building ของนักเรียนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง สร้างความเข้มแข็งของชุมชน รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน

 

นอกจากนี้ทางทีมวิจัยยังได้มีการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนร่วมกับเทคนิคการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดเครือข่ายอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม งานวิจัยชิ้นนี้จะนำมาซึ่งองค์ความรู้ทางวิชาการเรื่องศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนและหญ้าทะเลธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟู

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลชาติ กล่าวต่อว่า ประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ นอกจากองค์ความรู้ทางวิชาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมนักวิจัยในระดับนานาชาติแล้ว ยังมีการสร้างการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการสร้างมูลค่าในตลาดคาร์บอน (Carbon Market) และเป็นเครื่องมือในการพัฒนา Blue Economy ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

 "เราจะนำผลงานวิจัยมาต่อยอด เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านการกักเก็บคาร์บอนสีน้ำเงินการฟื้นฟูระบบนิเวศและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนโดยใช้เทคโนโลยีการรับรู้ระยะไกล ภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์"