zero-carbon

ครม.เคาะกรอบไทยร่วมเจรจามลพิษจากพลาสติก-สิ่งแวดล้อมทางทะเล

    ครม.เห็นชอบท่าทีไทยถกกรอบมาตรการด้านมลพิษจากพลาสติกและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตามข้อมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนไทยเข้าร่วม 6 คน ที่กรุงปารีส 28 พ.ค.-2 มิ.ย. นี้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ 23 พฤษภาคม 2566 ได้เห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ครั้งที่ 2 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2566

สำหรับการเจรจาระหว่างรัฐบาล เกิดขึ้นจากที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมสหประชาชาติระดับสูงที่สุดในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ที่มีประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม

ก่อนหน้านี้ในการประชุม UNEA เมื่อวันที่ เดือนมีนาคม 2565 ได้มีการรับรองข้อมฺติ "ยุติมลพิษจากพลาสติก : ด้วยมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ" พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ ขึ้นเพื่อเจรจาและจัดทำมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเจรจาจะมีทั้งหมด 5 ครั้ง

ครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ 26 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2565 ที่สาธารณรัฐบูรพาอุรกกวัย กำหนดจัดทำมาตรการให้แล้วเสร็จในปี 2567 เสนอรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุมผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี 2568

ทั้งนี้ในการประชุมครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2566 จะมีวาระที่จะต้องมีการรับรองและข้อตัดสินใจสำคัญ อาทิ

  1. ข้อกำหนดและขอบเขตของร่างมาตรการ 
  2. บัญชีรายชื่อพลาสติดบางประเภทที่มีปัญหาและเป็นอันตรายมากที่ควรได้รับการยกเลิก ลด หรือจำกัดการผลิต การใช้งานและการได้รับการจัดการที่เหมาะสม 
  3. บัญชีรายชื่อสารอันตรายที่เติมแต่งในพลาสติกที่ควรได้รับการยกเลิกการผลิตและการใช้งาน
  4. ข้อเสนอบทบัญญัติของมาตรการ

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาร่างกรอบการเจรจาและท่าทีของไทยแล้ว เห็นว่ามีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตการเจรจาในประเด็นต่างๆ และเป็นเอกสารภายในของไทยที่เป็นกรอบท่าทีสำหรับการประชุมดังกล่าว ยังไม่ใช่การจัดทำสนธิสัญญาใหม่ จึงไม่มีประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ

 นอกจากนี้ ครม.ยังได้รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศ รวม 6 คน โดยมี น.ส.ธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียงและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย