ความท้าทายของไทยกับมาตรการจัดเก็บ “ภาษีพลาสติก” บนเวทีโลก

24 เม.ย. 2566 | 15:28 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2566 | 15:36 น.

ความท้าทายประเทศไทยกับมาตรการจัดเก็บภาษีพลาสติก และ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มาตรการสำคัญบนเวทีโลก เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การจัดเก็บ "ภาษีพลาสติก" (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Plastic Packaging Tax: PPT) ถือเป็นมาตรการทางภาษีรูปแบบใหม่ ที่เรียกเก็บเงินหรือค่าธรรมเนียมจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือประเทศสมาชิก ที่ผลิต นำเข้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและย่อยสลายยาก ซึ่งไม่รวมบรรจุภัณฑ์ พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล

นั่นเพราะในปัจจุบัน โลกกำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งพลาสติกก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงขึ้น ทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัญหาขยะ ไปจนถึงการตกค้างของไมโครพลาสติกในร่างกายของมนุษย์ 

ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงเริ่มออกมาตรการมาเพื่อควบคุมปริมาณการผลิตและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งหรือพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ซึ่งการเรียกเก็บภาษีพลาสติก หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการควบคุมปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม

 

ภาพประกอบข่าว การจัดเก็บ "ภาษีพลาสติก" (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก

แนวคิดเกี่ยวกับภาษีพลาสติก

มาตรการภาษีเป็นมาตรการภาครัฐประเภทหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำหนดให้ทุกประเทศร่วมมือกันในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว194 ประเทศ 

ต่อมาในการประชุม COP26 ปี 2564 มีมติให้ประเภทศภาคีปรับปรุงเป้าหมาย “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” ให้พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีค.ศ. 2050 หรือปี พ.ศ. 2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปีค.ศ. 2065 หรือปี พ.ศ. 2608)

ทั้งนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือที่สามารถการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทำให้ต้นทุนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเปลี่ยนไป 

ขณะที่ผู้ผลิตอาจเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ และผู้บริโภคอาจเลือกใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้หรือบรรจุภัณฑ์ที่นำมาใช้ซ้ำแทน และท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลง ในขณะที่ภาครัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

ภาพประกอบข่าว การจัดเก็บ "ภาษีพลาสติก" (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก

ไทยส่งออกพลาสติกจำนวนมาก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานข้อมูลสำคัญว่า ในปี 2564 ไทยส่งมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก 140,772.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.07% ของมูลการส่งออกรวม เพิ่มขึ้นจากปี 2563 หรือคิดเป็น 13.46% 

สำหรับในปี 2565 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ พลาสติกเป็นมูลค่า 158,016.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 12.25% โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของ ไทย 5 อันดับได้แก่ 

  1. สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วน 19.23% 
  2. ญี่ปุ่น 16.73% 
  3. เวียดนาม 5.68% 
  4. ฟิลิปปินส์ 4.88% 
  5. จีน 4.77%

ถึงแม้ว่าตลาดสำคัญของไทยจะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีพลาสติก แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่ตลาดเหล่านี้ จะจัดเก็บภาษีพลาสติก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกอันดับ 1 ของไทย อยู่ระหว่าง จัดทำร่างกฎหมาย Reduce Act of 2021 ซึ่งย่อมส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นสูงขึ้น 

 

ภาพประกอบข่าว การจัดเก็บ "ภาษีพลาสติก" (Plastic Tax) หรือ ภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก

 

แนะแนวทางการปรับตัวรองรับ

ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมการ รองรับปรับตัว และแสวงหาโอกาสทางการตลาดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของ ผู้บริโภค เช่น

  • การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยการใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็น แหล่งผลิตวัตถุดิบจำพวก อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ พลาสติกชีวภาพได้ 
  • การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับและมาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสม ของพลาสติกรีไซเคิล 
  • การส่งเสริมและผลักดันการส่งออกพลาสติกชีวภาพ โดยคำนึงถึงการตอบสนองต่อ ความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อ
  • การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable business) ที่คำนึงถึงสังคม ส่วนรวม สิ่งแวดล้อม และประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ตลอดจนเศรษฐกิจสร้างมูลค่า (Value added economy) ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพของสินค้า และ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

ข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า