สรรพสามิต เตรียมเว้นภาษีไบโอเอทานอล ผลิตพลาสติกรักษ์สิ่งแวดล้อม

18 เม.ย. 2566 | 10:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2566 | 12:53 น.

สรรพสามิต เตรียมยกเว้นภาษีไบโอเอทานอล หนุนผลิตไบโอพลาสติก ดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมลุยแก้กฎหมายเปิดทางผู้ประกอบการนำเอทานอลไปใช้ประโยชน์ได้

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตามที่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้วางกลยุทธ์การบริหารงานของกรมในปี 2566 ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยภาษีสรรพสามิตที่เน้น ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล) นั้น ภาษีตัวแรกที่กรมจะดำเนินการคือ "ภาษีไบโอเอทานอล" (Bioethanol) ที่เป็นวัตถุดิบทำไบโอ-เอธทิลีน (bio-ethylene) ที่จะนำไปสู่ผลิตเม็ดไบโอพลาสติก  (Bioplastic) ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

 

โดยขณะนี้ สำนักแผนนโยบายของ กรมสรรพสามิต ได้ร่วมทำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) กับผู้ผลิตเอทานอล และผู้ใช้ คือ โรงงานเอธทิลีนในประเทศไทย ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วเรียบร้อย หลังจากนี้ก็จะนำเรื่องไปเสนอกับ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ บอร์ดบีซีจี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

 

“ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า เอทานอลที่ถูกผลิตออกมาจะต้องถูกนำไปใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องแก้กฎหมาย และเปิดโอกาสในผู้ประกอบการนำเอทานอลไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ อาทิ ผลิตเป็นไบโอเอทานอล เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดไบโอพลาสติก ต่อไป ซึ่งปกติแล้วเอธทิลีน จะผลิตมาจากปิโตเคมี ทำให้ในกระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถ้าทำจากเอทานอล ก็จะลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ หรือแทบไม่มีเลย” นายเกรียงไกร กล่าว

ทั้งนี้ เอทานอลนั้นผลิตมาจากน้ำตาล จากอ้อย หรือมันสำปะหลัง ดังนั้นก็จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดสาย โดยเข้าไปกำกับ และควบคุมตั้งแต่การกระบวนการปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และไม่มีการเผาไร่เพื่อการเก็บเกี่ยว  

สำหรับตัวเอทานอล ปัจจุบันกรมสรรพสามิตก็ทำการยกเว้นภาษี สำหรับ เอทานอลที่ใช้ผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่แล้วและมีแนวคิดว่า ถ้านำไปใช้ในการผลิตจากไบโอพลาสติก ก็จะได้ยกเว้นภาษีด้วยเช่นกัน ปัจจุบันโรงงานเอทานอลในประเทศไทย ทั้งหมด 24 โรง ที่สามารถส่งไปใช้ในการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงได้เท่านั้น แต่จำนวนเอทานอลที่ผลิตนำไปผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมีเหลือล้นในตลาด เพราะผู้ผลิตนำไปใช้เพื่อการอื่นไม่ได้ นอกจากน้ำมันเชื้อเพลิง 

“กรมมีแผนที่จะยกเว้นภาษีให้กับตัวเอทานอลที่ผลิตเป็นไบโอเอทานอล  ตัวไบโอ-เอธทิลีน และไบโอพลาสติกที่ได้จากเอทานอล หรือกล่าวคือ ยกเว้นภาษีให้กับผลิตภัณฑ์ตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ให้ผู้ประกอบการไม่มีภาระภาษี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้ไบโอพลาสติกที่ได้มาราคาจับต้องได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ดี การจะผลิตไบโอเอทานอลนั้น ก็จะต้องจัดตั้งโรงงานเอทานอลใหม่ ปัจจุบันเรื่องได้เสนอไปที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว รอลงนาม ไปถึงบอร์ดบีซีจี เพื่อเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งทางบอร์ดก็จะคัดเลือกเรื่องที่สามารถเสนอในช่วงรัฐบาลรักษาการได้ ก็จะเสนอไปก่อน  โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ที่จะได้เห็นแผนงานดังกล่าว