zero-carbon

เช็คผลงานรัฐบาลประยุทธ์ กับแผนจัดการ “ขยะพลาสติก”

    เช็คผลงานรัฐบาลประยุทธ์ กับแผนจัดการ “ขยะพลาสติก” หลังบอร์ดติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ชงครม.รับทราบเรียบร้อย ลองดูข้อมูลกว่า 2 ปีมีอะไรเปลี่ยน

ไม่นานมานี้ คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) ได้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกฯ (วันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566) โดยเฉพาะเรื่องของการจัดการ “ขยะพลาสติก” ซึ่งมีความคืบหน้าแล้วหลายส่วน

สำหรับการดำเนินการในเรื่องการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 เรื่องสำคัญที่กำหนดเอาไว้ภายใต้นโยบายหลักของรัฐบาล คือ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เรื่องการบริหารจัดการ “ขยะพลาสติก” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปแผนจัดการขยะพลาสติก เฟสแรก คนไทยลดใช้ถุงก๊อบแก๊บแค่ไหน

 

ภาพประกอบข่าวการจัดการ “ขยะพลาสติก” ของประเทศไทย

ดันหลายโครงการแก้ขยะพลาสติก

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563-2565) ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ประกอบด้วย

  1. การงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว “Everyday Say No To Plastic Bags” 
  2. มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ 
  3. โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) 
  4. มาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 
  5. การแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548
  6. การกำหนดมาตรฐานภาคสมัครใจผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ 
  7. มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในองค์กร
  8. โครงการ Green Coffee Shop ลดแก้วพลาสติกและหลอด 
  9. การดำเนินงานตาม MOU : Food Delivery วิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 
  10. โครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) 
  11. โครงการ “จังหวัดสะอาด” 
  12. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ผ่านทาง Social Media 
  13. การกำหนดมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก 
  14. การจัดทำฐานข้อมูลพลาสติก 
  15. การสื่อสารความรู้ด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ และนักออกแบบ 

 

ภาพประกอบข่าวการจัดการ “ขยะพลาสติก” ของประเทศไทย

ออกแนวทางห้ามนำเข้าในประเทศ

ขณะเดียวกันยังมีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ได้มีวาระการพิจารณาทบทวนนโยบายและมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

โดยที่ประชุมได้มีมติมอบหมายกรมควบคุมมลพิษ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางเลือกด้านเงื่อนไขระยะเวลาการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก จัดทำข้อดี ข้อเสีย โดยกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ก่อนเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา และเสนอ ครม. ต่อไป 

ทั้งนี้ได้แนวทางการดำเนินงาน 3 ทางเลือก มีดังนี้

  • แนวทางที่ 1 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2564 ตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5
  • แนวทางที่ 2 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2569 ตามมติคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564
  • แนวทางที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ในปี 2566 

อย่างไรก็ดีหากมีการดำเนินงานตามแนวทางที่ 2 และ 3 จะต้องมีการกำหนดสัดส่วนเพื่อส่งเสริมการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อต้องใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงาน 100% สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบโมเดลเศรษฐกิจ BCG

 

ภาพประกอบข่าวการจัดการ “ขยะพลาสติก” ของประเทศไทย

 

คุมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

นอกจากนี้ยังร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกผสมสาร oxo โฟมบรรจุอาหารถุงพลาสติกแบบบางความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน แก้วพลาสติกแบบบางความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติก ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลหลักการและเหตุผลประกอบการพิจารณาในการออกประกาศฯ 

พร้อมกันนี้ยังออกประกาศกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เรื่อง ความหมายของ “ขยะพลาสติก” และ “เศษพลาสติก” ให้เกิดความชัดเจนสำหรับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกเศษพลาสติก นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งให้กรมศุลกากรมีการตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ไม่ให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกเข้ามา หากตรวจพบมีการนำเข้าขยะพลาสติกต้องส่งกลับประทางต้นทางทันทีหรือขายทอดตลาดแล้วส่งออกไปต่างประเทศ และที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษมีการติดตามเฝ้าระวังการประกอบกิจการโรงงานพลาสติกทั้งในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) และพื้นที่ทั่วไป เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติภัยเพลิงไหม้ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความเดือดร้อนกับประชาชน

อีกทั้งยังออกประกาศกรมศุลกากร กำหนดประเภท หรือชนิดแห่งของที่จะนำเข้าไปในเขตปลอดอากรและการควบคุมของที่มีความเสี่ยง โดยกำหนดให้เศษพลาสติกที่นำเข้าไปจะต้องแยกประเภทแต่ละชนิดไม่ปะปนกัน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดอีก และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น และปริมาณนำเข้าไม่เกินกำลังการผลิต

ทำแผนจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2

อย่างไรก็ตามเพื่อส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และให้มีการนำเศษพลาสติกภายในประเทศกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทำให้มีการยกระดับคุณภาพเศษพลาสติกในประเทศ และมีปริมาณที่เพียงพอตอการนำไปเป็นวัตถุดิบในภาคธุรกิจรีไซเคิล และไม่ให้ประเทศไทยเป็นถังขยะโลกรองรับเศษพลาสติกจากประเทศอื่น 

คณะอนุกรรมการฯ กำลังพิจารณาที่จะเสนอนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก โดยมีแนวคิดจะอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกได้ไม่เกิน 2 ปี รวมถึงจะมีการกำหนดมาตรการ ลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี และประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล ต่อไป

นอกจากนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 -2570) โดยมีเป้าหมายคือ ขยะพลาสติกมีการจัดการ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นไปตามเป้าหมาย Roadmap การจัดการขยะพลาสติก