นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก เปิดเผยว่า สถาบันพลาสติกตั้งเป้าหมายบรรลุข้อตกลงลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างยั่งยืน
ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 ปี 2566-70 ที่กำหนดให้มีส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ 25% ในปี 2568 เพิ่มเป็น 50% ในปี 2573 และเป็น 100% ในที่สุด
"ล่าสุดสถาบันพลาสติกได้ดำเนินการจัดงาน พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2023 : Plastic & Rubber Thailand 2023 ภายใต้แนวคิด การพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพื่อต่อยอดไปสู่เป้าหมายดังกล่าว"
ทั้งนี้ ข้อมูลปี 2565 ไทยมีสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิล 20% จาก 18% ในปี 2554 เทียบกับเกาหลี ออสเตรเลีย มีสัดส่วนการใช้พลาสติกรีไซเคิล 45% และเยอรมนีมีสัดส่วน 65% ทำให้เกิดการนำพลาสติกหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนการนำเข้าเม็ดพลาสติกในประเทศที่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่าเป็น 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพีที่มีมูลค่า 15 ล้านล้านบาท)
และมีการเติบโตต่อเนื่องกว่า 1.5-2 เท่าของจีดีพีประเทศ โดยเป็นการนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประมาณ 6 ล้านตัน และเม็ดพลาสติกส่งออก 5 ล้านตัน ขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการพลาสติก 370 ล้านตัน แต่มีพลาสติกชีวภาพรองรับ 2.5 ล้านตัน เป็นพลาสติกชีวภาพของไทยเพียง 9 หมื่นตัน
นายวีระ กล่าวอีกว่า สถาบันพลาสติกจึงส่งเสริมภาคเอกชนมีการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่มีการปลดปล่อยปริมาณคาร์บอนน้อยกว่าเม็ดพลาสติกผลิตใหม่ ตลอดจนเสนอทางเลือกในการใช้พลาสติกชีวภาพที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ลดลง ด้วยการใช้อุปกรณ์ช่วยลดการใช้พลังงาน ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการเสียหายจากการผลิต
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลาสติกและยางไทยเป็นอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบประเภทพลาสติกและยางอันดับต้นของโลก
โดยส่งออกไปในกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ทั้งยังเป็นฐานการผลิตสินค้าประเภทพลาสติกและยางในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าในครัวเรือน
รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้เอง และส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐ จีน และในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น
“ทั่วโลกมีการพูดถึงการผลิตที่ปรับลดคาร์บอนมากขึ้น โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทย จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการทางการค้านอกเหนือจากประเทศไทย ต้องพัฒนาขีดความสามารถ และก้าวให้ทันกับความต้องการของตลาดโลก ตอบโจทย์เทรนด์ตลาดโลกให้ได้"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง