โอกาสอาเซียน เร่งเครื่อง EV เสริมแกร่งระบบนิเวศน์ธุรกิจ

13 พ.ค. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2566 | 19:33 น.

เร่งเครื่อง EV อาเซียน สมาคมชั้นนำ 6 แห่ง ประชุมด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกของอาเซียน บันทึกความร่วมมือ เพื่อเสริมแกร่งระบบนิเวศน์ธุรกิจ

โลกกำลังเบนเข็มให้ความสำคัญกับ “พลังงานสะอาด” มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ส่งให้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ทั่วโลกเปลี่ยนไปเป็นความต้องการ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลก

ประเทศผู้ผลิตรถยนต์หลักในภูมิภาคอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีการคาดการณ์ว่าเพราะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภูมิภาคนี้จึงมีศักยภาพที่จะเป็น EV hub ของโลกในระยะยาว

ณ วันนี้ เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของยานยนต์ อย่าง Electric Vehicle : EV ประเทศในอาเซียนต่างขานรับเทรนด์นี้ พร้อมยกระดับ นโยบาย มาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันผู้คนก็ต่างหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ค่ายรถแบรนด์ดังต่างเปิดตัวรถ EV รุ่นใหม่กันอย่างคึกคัก เป็นทางเลือกและทางออกในยุคน้ำมันแพงที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้

ความคืบหน้าล่าสุด การประชุมด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรกของอาเซียน 1st ASEAN Battery and Electric Vehicle Technology Conference ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ช่วงระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม โดย ความร่วมมือในการจัดการประชุมร่วมกันระหว่างกลุ่มความร่วมมือธุรกิจแบตเตอรี่แห่งสิงคโปร์ (Singapore Battery Consortium), ศูนย์เทคโนโลยีการขนส่งที่ยั่งยืนแห่งชาติ ประเทศอินโดนีเซีย (NCSTT) และ  รวมถึงการสนับสนุนจาก Hioki E.E Corporation บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือเพื่อการทดสอบและวัดขนาด

โอกาสอาเซียน เร่งเครื่อง EV เสริมแกร่งระบบนิเวศน์ธุรกิจ

 

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย  (TESTA) กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจที่มีการลงนามระหว่างองค์กรชั้นนำ 6 แห่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะนำมาซึ่งการสร้างความแข็งแกร่งในการประสานความร่วมมือในภูมิภาค จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับทุกคนที่จะมุ่งไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้  

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA)

โดยบันทึกความเข้าใจ (MOU) นี้ สมาคมต่างๆ จะประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ 

  • ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในอาเซียน
  • จัดอีเวนท์เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่าย
  • วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ความปลอดภัย มาตรฐานและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)

สำหรับ สมาคมทั้ง 6 ได้แก่ กลุ่มความร่วมมือด้านแบตเตอรี่แห่งสิงคโปร์ (SBC), ศูนย์เทคโนโลยีการขนส่งที่ยั่งยืนแห่งชาติ ประเทศอินโดนีเซีย (NCSTT) , สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA), สถาบันวิจัยแบตเตอรี่แห่งชาติ (NBRI) ประเทศอินโดนีเซีย, องค์กรนาโนมาเลเซีย เบอร์แฮด และ สมาคมรถยนต์ไฟฟ้าแห่งฟิลิปปินส์ (EVAP)

จากการพูดคุยพบว่า แต่ละสมาคมก็มีคาดหวังในเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ จะเกิดการประสานความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ในอาเซียนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมด้านแบตเตอรี่ของอาเซียน มุ่งที่จะนำผู้เล่นที่หลากหลายเข้ามาเพื่อร่วมทำงานแบบประสานพลัง และเพื่อที่จะจัดให้มีแพลตฟอร์มที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน

เเละความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างความก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ความปลอดภัย มาตรฐานด้านต่างๆ และการวิจัยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งจะสร้างอุตสาหกรรมการขนส่งที่มีความสามารถทางการแข่งขันโดยการสนับสนุนระดับชาติ ซึ่งสุดท้ายจะมีส่วนร่วมส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการจัดเก็บพลังงานของภูมิภาคนี้ประสบความสำเร็จและเติบโตต่อไปด้วย

โอกาสอาเซียน เร่งเครื่อง EV เสริมแกร่งระบบนิเวศน์ธุรกิจ

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ต้องการให้เกิดความร่วมมือในอาเซียน เรื่องเเบตเตอรี่เป็นหลัก โดยเฉพาะการผลักดันเชิงวิชาการ การเเลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพื่อนำมาปรับใช้ ในเชิงประเทศก็เป็นเรื่องของการเเข่งขัน

ส่วนความเเตกต่างระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย คือ ตลาดอินโดฯ เน้นมอเตอร์ไซต์เป็นหลัก ซึ่งมีจำนวน 120 ล้านคัน มีบริษัทนำเข้ามาทำแบรนด์ของตัวเองกว่า 30 บริษัท เช่น gojek ส่วนประเทศไทยเน้นทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ สำหรับนโยบายแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป โดยไทยเน้น 3 เรื่องหลัก คือ เพื่อลดมลพิษ ลดปล่อยคาร์บอนและสร้างอุตสาหกรรมใหม่

โอกาสอาเซียน เร่งเครื่อง EV เสริมแกร่งระบบนิเวศน์ธุรกิจ

Kenneth Soh หัวหน้าหน่วยพัฒนาธุรกิจระดับโลกของ Hioki E.E Corporation กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะนําผู้เล่นต่างๆ ในอุตสาหกรรม EV และแบตเตอรี่ มารวมกันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม ระหว่างประเทศอาเซียนต่อไป เพราะอาเซียนเป็นตลาดยานยนต์ขนาดใหญ่ มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ํามันขับเคลื่อน คิดเป็น 40% ของยานพาหนะทั้งหมดทั่วโลก

นอกจากการบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ยังมีประเด็นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การอภิปรายโต๊ะกลมเกี่ยวกับการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Decarbonization) ในอาเซียนระหว่างสถาบันชั้นนำของภูมิภาคที่อยู่ในวงการแบตเตอรี่และพลังงานไฟฟ้าสีเขียว (Electrification) และการสนทนาแบบพาเนลดิสคัชชันเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping)

เศรษฐกิจหมุนเวียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ เเละยังมีการบรรยายพิเศษ (Keynote speech) จากตัวแทนของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการจัดเก็บพลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้า มีผู้เข้าร่วมงานจากหลายบริษัท